หน่วยเฉพาะกิจนาวืกโยธินภาคใต้
 
(ฉก.นย.ภต.)
 

     หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ (ฉก.นย.ภต.) ปฏิบัติภารกิจด้านการเมือง การทหาร ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ในปัจจุบัน ซึ่งทหารนาวิกโยธินเริ่มเข้าปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ (ยะลาปัตตานี,นราธิวาส) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบัน โดยใช้นามหน่วยและชื่อย่อแตกต่างต่างกันไปตามลำดับคือ

      ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๒๐ โดยใช้นามหน่วยเป็นเลข ๓ ตัว คือ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๘๑ (ฉก.นย.๑๘๑) เลข ๒ ตัวแรก หมายถึงปี พ.ศ.๒๕๑๘ ตัวที่ ๓ หมายถึง หน่วยเฉพาะกิจหน่วยที่ ๑ เนื่องจากในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ทั้งหมด ๕ หน่วย

       ปี พ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๒๕ เปลี่ยนนามหน่วยเป็น ๔ ตัว คือ เลขสองตัวแรกหมายถึง ปี พ.ศ.เหมือนเดิม เลขตัวที่สาม หมายถึง ชื่อกองพัน เลขตัวที่สี่ หมายถึง จำนวนครั้งที่ปฏิบัติ ภารกิจที่ชายแดนภาคใต้ เริ่มตั้งแต่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๑๙๑ (ฉก.นย.๒๑๙๑)

       ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ เป็นต้นมา กรมนาวิกโยธิน ยกเลิกการใช้เลข ๔ ตัว เรียก ฉก.นย.ภาคใต้ โดยให้เปลี่ยนใหม่เป็น หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ (ฉ.นย.ภต.) และเพื่อไม่ให้ชื่อใหม่สับสนกับ ฉก.นย.ภต.

       ในปีต่อ ๆ ไป จึงให้กำหนดปีงบประมาณกำกับไว้ด้วย เช่น ฉก.นย.ภต.(งป.๒๗), ฉก.นย.ภต.(งป.๓๒) เป็นต้น ผบ.ฉก.นย.ภต.คนแรก คือ น.อ.ชีวิน ปิ่นทอง และคนที่ ๒ น.อ.วิชัย ธรรมวิญญา มีตำแหน่งปกติเป็น รอง ผบ.กรม ร.๓ นย.ในขณะนั้นเป็น ผบ.ฉก.นย.ภต.(งป.๒๗ และ งป.๒๘ ตามลำดับ) เนื่องจากเงื่อนไขในขณะนั้นคือ น.อ.สง่า แดงดีเลิศ อาวุโสกว่า ผบ.พตท.๔๓ แต่ น.อ.ชีวิน ปิ่นทอง ดำรงตำแหน่งไม่ครบปีงบประมาณ ต้องเสียชีวิตเนื่องจากป่วยด้วยโรคมะเร็ง น.ท.วิม สุตะพาหะ ผบ.พัน.ร.๘ กรม ร.๓ นย.ซึ่งเป็น รอง ผบ.ฉก.นย.ภต.อีกตำแหน่งหนึ่ง จึงได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็น รรก.ผบ.ฉก.นย.ภต. แทน น.อ.ชีวิน ปิ่นทอง ซึ่งเสียชีวิต ตังแต่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๖ จนจบปีงบประมาณ

       สำหรับรายนาม ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ปฏิบัติภารกิจ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

      ผบ.ฉก.นย.๑๘๑ (งป.๑๘)                   น.ท.มนัส ปิ่นกุลบุตร

      ผบ.ฉก.นย.๑๘๕ (งป.๑๙)                   น.ท.ปรีชา โสภณดิลก

      ผบ.ฉก.นย.๑๙๒ (งป.๒๐)                   น.ท.วสินธ์ สาริกะภูติ

      ผบ.ฉก.นย.๒๐๓ (งป.๒๑)                   น.ท.วิสุทธิ์ พิทักษ์เขตต์

      ผบ.ฉก.นย.๒๑๙๑ (งป.๒๒)                 น.ท.สุพันธ์ ศุภสมุทร

      ผบ.ฉก.นย.๒๒๙๒ (งป.๒๓)                 น.ท.สุพันธ์ ศุภสมุทร

      ผบ.ฉก.นย.๒๓๘๒ (งป.๒๔)                น.ท.ประสาท กาญจนะจิตรา

      ผบ.ฉก.นย.๒๔๓๑ (งป.๒๕)                น.อ.สงบ ศรลัมพ์

       ผบ.ฉก.นย.๒๔๓๒ (งป.๒๖)                น.อ.สง่า แดงดีเลิศ

       ผบ.ฉก.นย.ภต. (งป.๒๗)                   น.อ.ชีวิน ปิ่นทอง

       ผบ.ฉก.นย.ภต. (งป.๒๗)                  น.อ.วิม สุตะพาหะ

       ผบ.ฉก.นย.ภต. (งป.๒๘)                  น.อ.วิชัย ธรรมวิญญา (ตำแหน่งปกติ รอง ผบ.กรม ร.๓ นย.)

       ผบ.ฉก.นย.ภต. (งป.๒๘-๒๙)              น.อ.มานิตย์ ดีมาก (ผบ.กรม ร.๓ นย. แทน รอง ผบ.กรม ร๓. ตั้งแต่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
                                                 เนื่องจากหมดปัญหาเรื่องอาวุโส ทร.แต่งตั้งใหม่ )

       ผบ.ฉก.นย.ภต.(งป. ๓๐-๓๒)              น.อ.ศุภนิตย์ จุฑะพุทธิ

       ผบ.ฉก.นย.ภต.(งป.๓๓)                   น.อ.วสินธ์ สารภูติ

       ผบ.ฉก.นย. (งป.๓๔-๓๕)                 น.อ.สุพันธ์ ศุภสมุทร

       ผบ.ฉก.นย.ภต. (งป.๓๖)                  น.อ.ถาวร วัฒนารมย์ (๑ ต.ค.๓๖-๓๑ มี.ค.๓๗ เนื่องจากป่วย)

       ผบ.ฉก.นย.ภต.(งป.๓๗-๓๘)              น.อ.วัฒนา วงศ์วิเชียร

       ผบ.ฉก.นย.ภต.(งป.๓๙)                   น.อ.เทอดศักดิ์ พรหมศิริ

       ผบ.ฉก.นย.ภต.(งป.๔๐)                   น.อ.นิวัติ บุญระเทพ

       ผบ.ฉก.นย.ภต.(งป.๔๑)                   น.อ.สุวิทย์ ธาระรูป

 
ประวัติความเป็นมา
 

      ในการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสืบเนื่องจากในปลายปี ๒๕๑๗ รัฐบาลได้ประกาศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็น ผู้อำนวยการรักษาความสงบภาคใต้ (ผอ.รสต.) ตามมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นทหารไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายพลเรือน
เกิดความแตกแยกกันเองมากขึ้น เป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้าม ๓ กลุ่ม ถือโอกาสแทรกซึม และสร้างสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ฝ่ายตรงข้าม ๓ กลุ่ม ได้แก่

       ๑. ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)

       ๒. ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.)

       ๓. ขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.)

        กลุ่มสำคัญในการก่อการร้ายเป็นภัยต่อประเทศไทยมากที่สุด คือ ขจก.เป็นกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดแดนภาคใต้ของประเทศไทย กลุ่มที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ในขณะนั้น ได้แก่ ขจก.นายเปาะเย๊ะ รอยอบูเก๊ะ และกลุ่ม ขจก.เปาะสู วาแมดิซา ได้กระทำการคุกคามประชาชน ครู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ด้วยการจับตัว เรียกค่าไถ่ ปิดสวนยาง ขู่เข็ญเรียกค่าคุ้มครอง ตลอดจนลอบทำร้ายซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง สถานการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในขณะนั้น คือ ขจก.ได้จับครู ๓ คน ในจังหวัดยะลาไปเรียกค่าไถ่ พร้อมกับข่มขู่คุกคามที่จะจับครูเพิ่มขึ้น ทำให้ครูในโรงเรียน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่กล้าไปสอนที่โรงเรียน พร้อมกับกลุ่มครู ได้รวมตัวประท้วงให้รัฐบาลให้การคุ้มครอง อย่างเป็นรูปแบบ นอกจากนี้กลุ่มปอเนาะซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามยังรวมตัวต่อต้านครูที่เป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธอีกด้วย

        ผู้อำนวยการรักษาความสงบภาคใต้ (ผอ.รสต.) ในขณะนั้น คือ พลตรี สันต์ จิตรปฏิมา ได้ร้องขอกำลังทหาร ๓ กองพัน ต่อนายกรัฐมนตรีผ่านทางกองทัพบก เพื่อนำไปปฏิบัติการคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ ๑ กองพัน กองทัพบก จัดกำลังจาก ผส.๑๑ พัน.๓ จากจังหวัดชลบุรี ๑ กองพัน และร้องขอให้กองทัพเรือจัดกำลังทหารนาวิกโยธินสนับสนุนอีก ๑ กองพัน โดยเริ่มเข้ามาปฏิบัติการและขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ มทบ.๕ ภายในเดือนธันวาคม ๒๕๑๗

        การจัดกำลังครั้งแรก กรมนาวิกโยธินได้จัดกำลัง ๑ กองพันจาก พัน.ร.๓ ผส.นย.เป็นหน่วยเฉพาะกิจ นาวิกโยธินที่ ๑๘๑ (ฉก.นย.๑๘๑)โดยมี น.ท.มนัส ปิ่นกุลบุตร เป็น ผบ.ฉก.นย.๑๘๑ สายงานขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ มทบ.๕ ตั้งแต่ ๑ พ.ศ.๒๕๑๘ เวลา ๑๒๓๐ เป็นต้นไป (มทบ.๕ ค่ายคอหงส์ จังหวัดสงขลา)

       ฉก.นย.๑๘๑ ได้รับมอบพื้นที่ปฏิบัติการซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส กับอีก ๓ อำเภอคือ อ.เมือง, อ.บาเจาะ จว.นราธิวาส และ อ.สายบุรี จว.ปัตตานี

        ฉก.นย.๑๘๑ ต้องนำกำลังกลับที่ตั้งปกติที่ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี ใน ๒๖ เม.ย.๒๕๑๘ โดย ร.ล.ช้าง และ ร.ล.พงัน และเดินทางถึงใน ๒๙ เม.ย.๒๕๑๘ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง ทางการเมืองครั้งใหญ่ จากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๒ ต.ค.๒๕๑๖ ศูนย์นิสิต นักศึกษามีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศ นักการเมืองต้องเอาใจนิสิต นักศึกษา การใช้กำลังทหาร เพื่อปราบปราม ขจก.ในภาคใต้ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เป็นเหตุให้ต้องถอนกำลังทั้ง ๓ กองพันกลับที่ตั้งปกติ

        หลังจาก ฉก.นย.๑๘๑ ถอนกำลังออกจาพื้นที่ ตั้งแต่ ๒๖ เม.ย.๒๕๑๘ ทำให้สถานการณ์ชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมีสถานการณ์รุนแรงด้านการก่อการร้ายและ คุกคามชีวิตและทรัพย์สินราษฎรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก ขจก.เริ่มใช้อิทธิพลคุกคามความสงบสุขด้วยการปิดสวนยาง เรียกค่าคุ้มครอง จับบุคลเรียกค่าไถ่ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ครอบคลุม ไปทั่ว ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา,ปัตตานี,นราธิวาส) กลุ่มครูรวมตัวประท้วงด้วยการหยุดสอน และเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความปลอดภัย โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ประชาชนรวมกลุ่มเดินขบวนเรียกร้องให้ส่งทหารนาวิกโยธินกลับเข้ามาให้ความคุ้มครองอีก ซึ่งทางรัฐบาลได้ตอบสนองคำเรียกร้อง โดยเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๘ กองทัพเรือ
ได้ให้ กรมนาวิกโยธิน จัดกำลัง ๑ กองพันทหารราบ เป็น ฉก.นย.๑๘๕ เพื่อไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้จนสิ้นปีงบประมาณ ต่อมา กรมนาวิกโยธินได้จัดกำลังจากกองพันทหารราบ เป็นหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ปฏิบัติภารกิจที่ภาคใต้เปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

 
เหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้
 
ฉก.นย.๑๘๕
 
       หลังจาก ฉก.นย.๑๘๕ ได้เดินทางกลับที่ตั้งปกติแล้วเป็นเวลา ๑ ปี เรือโท อำพน บุญประเสริฐ ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๓ ของ ฉก.นย.๑๘๕ ได้รับพระราชทานเครื่องราช อิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๐
 
 

      เรือโท อำพน บุยประเสริฐ เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๓ ของ ฉก.นย.๑๘๕ ได้นำกำลังเข้าปราบปราม ขจก.และสามารถสังหาร นายเจ๊ะกู อุมา ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของ ขจก. ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้สำเร็จ นอกจากนี้ อีกครั้งหนึ่งได้ปะทะและสังหารหัวหน้า ขจก.อีกกลุ่มหนึ่งคือ นาย ลาเต๊ะ ปาโจ๊ะ หรือ ลาเจ๊ะ หน้าบากได้สำเร็จ พร้อมกับยึดอาวุธสงครามได้มากมาย ที่เชิงเขาบ้านกูยิ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

       ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๐ ขณะที่ พัน.ร.๑ ผส.นย.กำลังสนธิกำลังอยู่สัตหีบ เพื่อจัดกำลังเป็น ฉก.นย.๒๐๒ เตรียมเดินทางไปปราบปราม ผกค.ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น เรือโท อำพน บุญประเสริฐ ได้รับการบรรจุเป็นผู้บังคับกองร้อย อยู่ในอัตราของ ฉก.นย.๒๐๒ ครั้งนี้ด้วย ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ ขณะที่ เรือโท อำพน บุญประเสริฐ กำลังจัดเตรียมวัตถุระเบิดเพื่อเตรียมไปกับ ฉก.นย.๒๐๒ อยู่นั้น ลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้ เรือโท อำพน บุญประเสริฐ เสียชีวิตทันที ความทราบถึงใต้ฝ่าละอองพระบาท ฯ จึงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลา เข็มกลางสมรให้แก่ เรือโท อำพน บุญประเสริฐ โดยภรรยาของ เรือโท อำพน บุญประเสริฐ เป็นผู้รับพระราชทาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๐ เวลา ๑๖๓๐

        วีรกรรมของ เรือโท อำพน บุญประเสริฐ ครั้งนี้ นอกจากเป็นการเชิดชูเกียรติแก่วงศ์ตระกูล แล้วยังเป็นเกียรติแก่ กรมนาวิกโยธิน และทหารนาวิกโยธินทุกคนด้วย

 
พระบารมีล้นเกล้า ฯ เหล่านาวิกโยธิน
 

        สิ่งที่ประทับอยู่ในจิตใจของทหารนาวิกโยธินทุกผู้ทุกนาม สิ่งนั้นคือ พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทุกพระองค์ ที่ได้ทรงมีพระเมตตาต่อข้าราชการ และทหารของ ฉก.นย.๑๘๕ ดังนี้.

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เสด็จ ฯ เยี่ยมที่ตั้งและฐานปฏิบัติการของ ฉก.นย.๑๘๕ รวม ๔ แห่ง

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ เยี่ยมและทรงพระแสงปืน ที่ สนามยิงปืนชั่วคราว ณ ที่ตั้ง ทก.ฉก.นย.๑๘๕ บ้านทอน ๑ ครั้ง

        พระราชทานเลี้ยงนายทหารสัญญาบัตรของ ฉก.นย.๑๘๕ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ รวม ๖ ครั้ง

        พระราชทานของขวัญถุง ให้กับข้าราชการและทหารของ ฉก.นย.๑๘๕ ทุกคน

        พระราชทานวิทยุ เวชภัณฑ์ เครื่องรางของขลัง และสิ่งของ ให้กับกองร้อยต่าง ๆ และ ทก.ฉก.นย.๑๘๕ รวม ๔ แห่ง

“ พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ หาที่สุดมิได้”

 
ฉก.นย.๑๙๒
 

       เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ น.ท.วสินธ์ สาริกะภูติ ผบ.ฉก.นย.๑๙๒ ได้รับคำสั่งจาก มทภ.๔/ผอ.รส.ต.ให้ไปประชุมที่ กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เพื่อวางแผนปราบปราม ขจก.โดย ทภ.๔ ได้จัดเครื่องบิน แอล.๑๙ ซึ่งเป็นเครื่องบินชนิดเล็ก ลักษณะเดียวกับเครื่องบิน โอ.วัน ของกองทัพเรือ มารับ น.ท.วิสนธ์ สาริกะภูติ และ ร.ต.เดชา ขำจิตร ผู้ช่วยนายทหารยุทธการของ ฉก.นย.๑๙๒ ที่สนามบินบ้านทอน เดินทางไปจังหวัดยะลา โดยมีจ่าสิบโททหารบก เป็นผู้ขับเครื่องบินลำนั้น ปรากฏว่าขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่เหนือเทือกเขาบูโดอยู่นั้น เครื่องบินได้ประสบอุบัติเหตุตกลงบนเทือกเขาบูโด เป็นเหตุให้ ร.ต.เดชา ขำจิตร เสียชีวิตบนเครื่องบิน ส่วน น.ท.วิสินธ์ สาริกะภูติ กับนักบินที่เป็นทหารบกบาดเจ็บสาหัสทั้งสองคน ที่น่าประหลาดใจก็คือ เครื่องบินตกแต่กลับรอดชีวิตได้นั้น ไม่ค่อยปรากฏเห็นหรือได้ยินบ่อยนัก

      เมื่อเดือนกรกฏาคม ๒๕๒๐ ทาง ทภ.๔/กองรส.ต.ได้จัดให้มีการยุทธผสมระหว่างกองกำลังทางฝ่ายไทยกับกองกำลังทหารของประเทศมาเลเซีย เพื่อใช้กำลังของทั้งสองประทศ เข้าปราบปราม จคม.(ขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายู) ที่อยู่บริเวณรอยต่อของประเทศทั้งสอง ทางด้านจังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส เรียกการยุทธผสมตามแผนนี้ว่า “แผนยุทธการสะฮะย่าเบน่า ๒” มี พล.ต.ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผบ.พล.๕ เป็น ผบ.กกล.ผสมและฝ่ายมาเลเซีย จัดนายทหาร มาเลเซียเป็น รอง ผบ.กกล.ผสม

      ฉก.นย.๑๙๒ ได้รับคำสั่งจาก มทภ.๔/ผอ.รส.ต. ให้จัดกำลังเข้าปฏิบัติการร่วมในการปราบปราม จคม.ครั้งนี้ด้วย โดยปฏิบัติการอยู่ในเขต อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ผลการปฏิบัติปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๒๐ เวลา ๑๓๒๐ พลฯ สมาน นาคเกษม สังกัด กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ถูกกับระเบิดของ จคม.ขณะปฏิบัติการลาดตระเวน ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๒๐ เวลา ๑๕๒๐ จ.อ.ไพโรจน์ วุฒิคุณ สังกัด กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ เช่นเดียวกัน ถูกกับระเบิดของ จคม.ขณะปฏิบัติการลาดตระเวน ได้รับบาดเจ็บสาหัส

       เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จฯ เยี่ยม ฉก.นย.๑๙๒ ณ บ้านทอน อ.เมือง จว.นราธิวาส ทรงพระราชทานถุงของขวัญ และพระ (เหรียญ) สมเด็จพระนเรศวรไพรีพินาศ ทรงจัดอาหารมาเลี้ยงทหาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงร่วมร้องเพลงกับทหารนาวิกโยธินด้วย

 
บทเรียนจาก ฉก.นย.๑๙๒
 

๑. ด้านยุทธการ

ปัญหา

      - รู้กลุ่มโจร ขจก.ต่าง ๆ รู้การจัดกำลังผู้ปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ รู้ที่เกิด รู้ที่อยู่ของลูกเมีย พ่อแม่พี่น้อง แต่ไม่รู้จักหน้าตาของ ขจก.

      - ขจก.ที่ไม่ถืออาวุธ ก็คือชาวบ้านธรรมดา แยกไม่ออก

      - เมื่อถูกไล่ล่ามาก ๆ เข้า ขจก.เหล่านี้ก็จะหลบเข้าไปอยู่ในรัฐกลันตัน พวกนี้เป็นบุคคล ๒ สัญชาติ

จุดอ่อนของ ขจก.

      - ต้องอาศัยเสบียงจากชาวบ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงหรือผู้ตกอยู่ในอิทธิพล วงโคจรจึงอยู่ระหว่างป่าเขากับหมู่บ้าน

      - ไม่สามารถตั้งฐานปฏิบัติการถาวรได้ เนื่องจากเป็นกำลังกลุ่มเล็ก ๆ จึงปฏิบัติการในลักษณะจรยุทธไปเรื่อยๆ ในเขตพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มตน กลุ่มใครกลุ่มมัน จะหยุดพักแรมคืน แห่งละ ๒-๕ วัน

การแก้ปัญหา

       เมื่อ ฉก.นย.๑๙๒ ได้ปฏิบัติงานไปประมาณ ๑ เดือน ได้ศึกษาในเรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และ ขจก.พอกระจ่างบ้างแล้ว จึงปรับการปฏิบัติทางยุทธการใหม่ดังนี้

       ๑. ปฏิบัติการเป็นฝ่ายรุก ด้วยการจัดกำลังออกปฏิบัติการทุกวัน เป็น ๓ ลักษณะ หรือ ๓ กลุ่มคือ

           - กลุ่มที่ ๑ (พวกกวนบ้าน) จัดกำลังชุดละ ๑ พวกยิง (๔ คน) มีจ่าหรือพันจ่า เป็นหัวหน้าลาดตระเวนเข้าไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในลักษณะเยี่ยมเยียนประชาชน ถามสารทุกสุขดิบ ถามข่าว ขจก.ให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าทหารจะมาดูแลเยี่ยมเยียนเป็นประจำ เพื่อลดความหวาดกลัวที่เขามีต่อ ขจก.ลง ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นหมู่บ้านของพ่อแม่ พี่น้อง ขจก.ก็จะพูดชักจูงให้ไปบอก ขจก.มามอบตัว จะได้ไม่ถูกไล่ล่า งานหลักของกลุ่มนี้คือ ให้ความอบอุ่นกับประชาชนในพื้นที่ไล่ ขจก.ออกจากหมู่บ้าน ขัดขวาง และตัดการส่งเสบียงให้ ขจก. ทำลายขวัญ ขจก.ให้รู้สึกว่าฝ่ายเรารู้ตัว รู้จักที่ซ่อน รู้ที่ส่งเสบียงของเขาแล้ว กลุ่มนี้ปฏิบัติงานวันละหลายชุด ชุดหนึ่งให้เดินวันละ ๑๐-๑๕ กม./วัน ซึ่งจะได้ ๒-๓ หมู้บาน/วัน/ชุด การเดินทางวันละ ๑๐-๑๕ กม. สำหรับทหาร นย.ถือเป็นเรื่องปกติ

          - กลุ่มที่ ๒ (พวกกวนป่า) จัดกำลังประมาณหมู่ปืนเล็กหย่อนกำลัง (ประมาณ ๙ คน) ลาดตระเวนแนวรอยต่อระหว่างหมู่บ้านกับป่าเขา เมื่อพบชาวบ้านที่ออกมากรีดยาง หาของป่า ให้เข้าไปพูดคุย สอบถามหาข่าว ขจก. ดูร่องรอย ที่พักแรมคืน ที่พักชั่วคราว จุดนัดส่งเสบียง ตลอดจนสภาพภูมิประเทศต่าง ๆ งานหลักของกลุ่มนี้คือ ตัดการติดต่อสื่อสาร ระหว่าง ขจก.กับหมู่บ้าน ไล่ ขจก.ให้เข้าไปอยู่ในป่าลึก เพื่อความปลอดภัยในการล่าทำลาย จะไม่เป็นอันตรายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์

         - กลุ่มที่ ๓ (พวกไล่ล่า) จัดกำลังเป็นชุดลาดตระเวนรบ ปฏิบัติงานตามป่าเขาห่างจากกลุ่มที่ ๒ ออกมาโดยมากมิใช่พื้นที่ทำกิน มักจะปฏิบัติงานครั้งละหลาย ๆ วัน พวกนี้จะไม่เข้าประชาชน เพื่อไม่ให้เปิดเผยการปฏิบัติ ถ้าพบประชาชนในขณะปฏิบัติการ (ประชาชนไม่มีอาวุธ) และมีพฤติกรรมน่าสงสัยก็จะส่งกำลังส่วนน้อยเข้าตรวจค้นซักถาม

      ๒. จัดกำลังซุ่มโจมตีเป็นพื้นที่ เมื่อได้ข่าวการส่งเสบียงให้ ขจก.หรือ ขจก.จะมารับเสบียง

      ๓. จัดกำลังเข้าค้นหมู่บ้านทันที เมื่อได้ข่าว ขจก.เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ซุ่มรอบหมู่บ้าน ถ้าได้ข่าวล่วงหน้า

      ๔. จัดกำลังไล่ล่าเป็นพื้นที่ของเขาบูโด ประมาณเดือนละครั้ง โดย ฉก.นย.๑๙๒ วางแผนปฏิบัติการเป็นส่วนรวม ในขณะนั้นเทือกเขาบูโด คือ แหล่งหลบซ่อนและพื้นที่ปฏิบัติการของ ขจก.เพราะว่าเป็นเขตแดนติดต่อของ ๓ จังหวัด นราธิวาส ยะลา และ ปัตตานี ทำให้เป็นจุดอ่อนสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามยึดติดกับเขตการปกครอง อนึ่ง เป็นพื้นที่ที่ ขจก.เพิ่มเติม กำลังพลจากภายนอกประเทศ โดยทางทะเลได้ง่าย

      ๕. รุกทางด้านจิตวิทยา ด้วยการกระจายข่าวออกไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ดดยเฉพาะแหล่งญาติของ ขจก.ว่าถ้า ขจก.เกิดการปะทะกับ ทหาร นย.และก็ถูกยิงตายแน่ ๆ เพราะทหาร นย.มีอาวุธดีกว่า ยิงปืนแม่น ฝึกหนัก มีความทรหด อดทนสูง ไม่ปราณีคู่ต่อสู้ พวกเราพร้อมที่จะไล่ล่าได้ทั้ง ๗ วัน ๗ คืน ถ้าไม่อยากตายก็ให้ ขจก.มอบตัว หรือมิฉะนั้นก็จงออกไปอยู่ นอกพื้นที่รับผิดชอบของ นย.

       จากการปฏิบัติดังกล่าวทั้ง ๕ ข้อ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเดือนเศษ ขจก. กลุ่มเปาะแต จำนวน ๙ คน ได้หลบหนีออกจากพื้นที่ปฏิบัติการของ นย. ไปมอบตัวกับ พัน.ร. ...ในพื้นที่ อ.ระแงะ จว.นราธิวาส จนหมดทั้งกลุ่ม พวกเราถามเปาะแต ว่า ทำไมถึงมอบตัว เขาบอกว่า เขาถูกทหาร นย.ตามล่าหลบได้อย่างหวุดหวิดหลายครั้ง เข้าหมู่บ้านก็เจอ นย. หลบไปอยู่ชายป่าก็เจออีก หนีขึ้นเขาบูโดก็เจอ หนีอยู่ ๑ เดือนทนไม่ไหว กลัวตายเลยต้องออกมามอบตัว พวกเราถามว่าทำไมไม่มอบตัวกับ นย. เขาตอบว่ากลัวตาย เห็น นย.หน้าตาดุทุกคน เราบอกเขาว่า ถ้ามอบตัวเราจะไม่ทำอันตราย แต่ถ้าปะทะสู้รบกันเราจะไม่ไว้ชีวิต

      โจรกลุ่มอื่น ๆ หนีออกไปหลบซ่อนอยู่ในประเทศมาเลเซีย เช่น กลุ่มสะมะแอ ท่น้ำ เป็นต้น ปี ๒๕๒๐ สะมะแอ ท่าน้ำ อายุเพิ่งอายุ ๒๐ เศษ ๆ เป็น รองหัวหน้ากลุ่ม เริ่มจะดัง สรุปแล้วเพียงเดือนเศษ ฉก.นย.๑๙๒ สามารถผลักดัน ขับไล่ ขจก.กลุ่มต่าง ๆ หลบหนีออกไปจากเขตพื้นที่ปฏิบัติการได้หมด ทำให้พื้นที่รับผิดชอบเหตุการณ์สงบเรียบร้อย ประชาชนทำมาหากิน ค้าขาย ได้ตามปกติ โรงภาพยนตร์ในตัว จว.นราธิวาส เปิดได้ ยังคงมีใบปลิวข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองบ้าง แต่ประชาชนไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก

๒. ด้านการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์

      เนื่องจากในพื้นที่ จว.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี มีหน่วยทหารทั้ง นย., ทบ. ปกิบัติงานร่วมกันหลายหน่วย นอกจากนั้นยังมีหน่วยต่าง ๆ ของ ตำรวจ ทั้งในพื้นที่และจากต่างพื้นที่ เข้ามาปฏิบัติงาน ร่วมกัน เครื่องแบบต่าง ๆ ดูไกลๆ คล้ายกัน ประชาชนที่อ่านหนังสือไม่ออกจึงยกที่แยกว่าใครเป็นทหาร นย.,ทหารบก, ตำรวจ อสจ. ฯลฯ ปัญหาหลาย ๆ อย่าง เป็นที่รู้กันว่าสาเหตุเริ่มต้นเกิดจากเจ้าหน้าที่เลวบางคน บางหน่วย จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทหาร นย.เพิ่งจะเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นเพียงปีเศษ ๆ (เริ่ม ปี ๒๕๑๘) จึงต้องรักษา ชื่อเสียงของ นย. และ ทร. ให้ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนข้าราชการทุกหมู่เหล่า มีศรัทธา เชื่อถือไว้วางใจ เราจึงจะทำงานได้สำเร็จ ได้รับความร่วมมือ เมื่อเราร้องขอ ดังนั้น จึงได้กำหนดมาตรการ วิธีการปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ เช่น

      ๑) ให้รู้ได้แต่ไกลว่านี่คือทหาร นย. โดยแต่งเครื่องแบบชุดเขียวปล่อยแขนเสื้อยาวถึงข้อมือ (ไม่พับแขน เนื่องจาก ทบ.และ ตชด.ใส่ชุดเขียวพับแขน) สวมหมวกผ้าแปดจีบ (ทบ.หมวกเหล็ก)

      ๒) ห้ามดื่มสุรา หรือของมึนเมานอกฐานปฏิบัติการโดยเฉพาะตามร้านค้าในหมู่บ้านต่าง ๆ แต่ให้ดื่มได้ในฐานปฏิบัติการ เมื่อเป็นชุดพักไม่ต้องปฏิบัติงานในวันนั้น ดื่มได้ห้ามเมา อดดื่มสุราตลอดเวลานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ การให้ดื่มสุราตามร้านค้าสาธารณะเป็นการเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องคดีต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย อีกทั้งประชาชนพื้นเมืองที่เคร่งศาสนาอิสลาม เขาไม่ดื่มสุรา ถ้าเห็นทหารขี้เมา เขาจะหมดศรัทธา ดังนั้นจึงห้ามดื่มข้างนอกหน่วย ให้ดื่มในหน่วยภายใต้การดูแลของผู้บังคับบัญชาและเพื่อน ๆ แทน ได้รับความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชาใน ฉก.นย.๑๙๒ เป็นอย่างดี

     ๓) สร้างความเป็นมิตรในหมู่ข้าราชการของรัฐทุกหน่วย โดยยึดภารกิจหลักการปราบปราม ขจก.ของหน่วยเป็นหลัก งานอื่นที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกกับหน่วยราชการอื่น ให้หลีกเลี่ยงถ้าจำเป็นจะกระซิบให้ผู้บังคับบัญชาของเขาทราบ เพื่อให้จัดการกันเอง โดยเราไม่ออกหน้า เพื่อมิให้เสียความร่วมมือในการปราบปราม ขจก. ตามภารกิจของเรา เช่น ขณะลาดตระเวนค้นหา ขจก.ก็ไปพบการลักลอบตัดไม้เข้าสอบถามชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง บอกว่าเป็นของพวกข้าราชการปกครองคนนั้น คนนี้ เราก็บอกให้นายอำเภอทราบว่าเราพบการตัดไม้อยู่บริเวณนั้น ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ให้เขาไปตรวจสอบกันเอง เราก็สามารถป้องปรามการลักลอบตัดไม้ได้โดยไม่เสียเพื่อน

     ๔) เปลี่ยนงาน ปจว. จากการฉายภาพยนตร์ ๑๖ มม. ให้ประชาชนในหมู่บ้านชม มาเป็นจัดวงดนตรีแทน สาเหตุมาจากฝ่ายเราอยากให้ประชาชนรักความเป็นไทย จึงจัดหาภาพยนตร์ไทยไปฉาย แต่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชอบดูภาพยนตร์อินเดีย ขอดูหนังแขกแทนหนังไทย ผลประโยชน์ไม่สอดคล้องกัน จึงขออนุมัติ นย.เปลี่ยนเป็นจัดดนตรีแทนการฉายภาพยนตร์ โดยขอนักดนตรีจากวงดุริยางค์ของ นย.(หมวดดุริยางค์ กองพันบริการ นย.) จำนวน ๕ นาย พร้อมเครื่องดนตรี ๕ ชิ้น นักดนตรีบางคนอุตส่าห์เอาเครื่องส่วนตัวมาใช้ด้วย ทั้ง ๕ คน ทำงานด้วยใจรัก จัดเจ้าหน้าที่สื่อสาร จากหมวดสื่อสาร ฉก.นย.๑๙๒ มาเป็นพิธีกร เช่น จ.อ.ภักดี ทาหอม (ปัจจุบันเป็น นาวาเอก) จัดเป็นชุดปฏิบัติการจิตวิทยาขนาดย่อย ๆ พวกพิธีกรจำเป็นเหล่านี้มิได้ผ่านโรงเรียนหรือหลักสูตร ปจว.เป็นหลักฐานแต่อย่างใด ทำงานไปฝึกความชำนาญไปจนเก่งไปเอง เริ่มเอาดนตรีมาแทนการฉายภาพยนตร์ ตั้งแต่ ๑๖ พ.ค.๒๐ ดนตรีทำให้ทหารเราเข้ากับประชาชนได้ดีมาก เราสามารถดึงเอาเด็ก ๆ มาร่วมร้องเพลงร่วมแสดง ร่วมสนุกสนาน ทำให้พ่อแม่เขามาเป็นมิตรกับเราด้วย ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ด้วย ทำให้เราได้เพื่อนทั้งประชาชนและข้าราชการ และก็เป็นต้นแบบของการใช้ดนตรีชุดเล็กในงาน ปจว.ของหน่วย ฉก.นย.ภาคใต้ มาจนปัจจุบัน นักดนตรีชุด ๕ คนนี้ในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักทักษิณฯ (สิงหาคม-กันยายน ๒๕๒๐) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าๆไปบรรเลงในงานพระราชทานเลี้ยงส่วนพระองค์อยู่เป็นประจำ และสามารถบรรเลงให้เต้นรำด้วย นับว่าสร้างชื่อเสียงให้แก่ดุริยางค์ของกองทัพเรือมาก เนื่องจากนักดนตรีทั้ง ๕ คนนี้ จบจากโรงเรียนดุริยางค์ของ ทร.

๓. งานด้านการถวายความปลอดภัยแก่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

       ในช่วงปลาย สิงหาคม-กันยายน ๒๕๒๐ เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชนในพื้นที่ จว.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี มีงานโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้งสามจังหวัดนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะใน จว.นราธิวาส โครงการพระราชดำริส่วนใหญ่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของ ฉก.นย.๑๙๒ ดังนั้น เมื่อทราบข่าวว่าจะเสด็จแปรพระราชฐานจึงให้กองร้อยต่าง ๆ สำรวจสภาพเส้นทางทั้งหมดในพื้นที่ที่เข้าสู่หมู่บ้าน หรือพื้นที่โครงการพระราชดำริต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่ที่เคยเสด็จฯ เมื่อปีก่อน ๆ ด้วย ตรวจดูจุดอันตรายต่าง ๆ เมื่อกองร้อยรายงานให้ทราบแล้ว ผบ.ฉก.นย.๑๙๒ และฝ่ายอำนวยการของ ฉก.นย.๑๙๒ จะต้องไปตรวจดูทุกพื้นที่อีกครั้งหรือ ๒ ครั้ง ทำความรู้จักกับโครงการและบุคคลในโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญคือต้องหลับตาเห็นสภาพเส้นทางและพื้นที่อันตรายได้ทุกจุด เมื่อถูกถาม ผบ.หมวด ผบ.ร้อย ผบ.พัน และฝ่ายอำนวยการ จะต้องตอบให้ข้อมูลได้ ในที่สุดการเตรียมการต่าง ๆ เพื่อให้ตอบได้เมื่อถูกถามก็เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ในขณะที่ถวายความปลอดภัยอยู่ ณ พื้นที่ที่หมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สอบถามถึงสภาพเส้นทางไปยังหมู่บ้านแห่งอื่นที่มิใช่หมู่บ้านเป้าหมายตามแผนถึง ๒ ครั้ง ในส่วนของ ฉก.นย.๑๙๒ ที่ปฏิบัติต่อคำถามนี้คือ วันรุ่งขึ้นได้สั่งการให้หน่วยกำลังเข้าสำรวจเส้นทางและจัดวางกำลังตามเส้นทาง จนถึงหมู่บ้านที่พระองค์ท่านสอบถามให้แล้วเสร็จก่อนเวลา ๑๒๐๐ เพื่อให้ทันรับเสด็จและถวายความปลอดภัย หากเสด็จฯ เข้าพื้นที่จริง เวลาเสด็จฯ ปกติจะเป็นภาคบ่าย เวลา ๑๔๐๐-๑๕๐๐ และอยู่ในพื้นที่จนกระทั่ง เวลา ๒๐๐๐-๒๑๐๐ จึงเสด็จกลับพระตำหนักฯ และพอวันรุ่งขึ้นมีพระราชกิจเสด็จฯ ตามหมาย แต่พอรถพระที่นั่งผ่านประตูกองรักษาการณ์หน้าพระตำหนักทักษิณฯ แทนที่จะเลี้ยวไปตามเส้นทางในหมาย กลับเลี้ยวไปอีกเส้นทางมุ่งไปยังหมู่บ้านที่พระองค์ท่านสอบถามสภาพเส้นทางเมื่อวานนี้ การเตรียมการถวายความปลอดภัยของ ฉก.นย.๑๙๒ ในลักษณะเผื่อเอาไว้จึง กลายเป็นของจริง ในปี ๒๕๒๐ สถานการณ์ ผกค.และ ขจก.ในประเทศยังรุนแรงมาก ทุกพื้นที่ที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนประชาชน ทำให้แผ่นดินเย็น ประชาชนเป็นพวกเรา การถวายความปลอดภัยของพวกเรา ทั้ง ฝ่ายทหาร นย. ทหารบก ตชด. ตำรวจภูธร ฯลฯ มีงานเกือบทุกวัน ทุกคนเหนื่อย เป็นห่วงแต่ก็ดีใจและภูมิใจที่ได้มีส่วนในงานถวายความปลอดภัยนี้ แม้จะตากแดดตากฝน อดอาหารบ้าง ทุกคนก็ยิ้มแย้ม ไม่บ่น พวกเรา ฉก.นย.๑๙๒ ทุกคนถือว่างานถวายความปลอดภัยในครั้งนี้ เป็นงานที่ฝังอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน เป็นงานที่ประทับอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืมและภูมิใจ ดีใจ ที่ได้ทำหน้าที่นี้ในห้วงเวลา และสถานการณ์เช่นนั้น และดีใจที่ได้ทำหน้าที่ในหน่วย ฉก.นย.๑๙๒ จึงทำให้ได้ทราบได้เห็นการปฏิบัติพระราชกิจต่าง ๆ เพื่อประชาชนชาวไทยทั้งผอง จนทำให้แผ่นดินนี้ปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้

 
ฉก.นย.๒๔๓๑
 

      เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๒๕ ชุดปฏิบัติการได้ปะทะกับ ขจก.บริเวณ บ.สะโง อ.ศรีสาคร จว.นราธิวาส ผลการปะทะพบศพ ขจก. ๑ ศพ ยึด ปลย.บ. M-16 จำนวน ๒ กระบอก พร้อมกระสุน ๓๒๐ นัด ยุทโธปกรณ์อีกจำนวนหนึ่ง

      เมื่อวันที่ ๒๐-๒๖ มีนาคม ๒๕๒๕ ชุดปฏิบัติการได้ทำการกวาดล้าง ขจก.ขบวนการ BRN บริเวณ บ.ตืดงอ อ.ศรีสาคร จว.นราธิวาส ผลการกวาดล้าง ขจก.เสียชีวิต ๑ ศพ ยึดอาวุธ ปลย.บ.M-16 จำนวน ๑ กระบอก ธงรัฐปัตตานี ๓ ผืน ยุทโธปกรณ์อีกจำนวนหนึ่ง

      เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๕ ชุดปฏิบัติการได้ช่วยเหลือตัวประกันเรียกค่าไถ่ ๒ คน คือ นายอนันต์ พงษ์ไพศาล และ นายพิพัฒน์ อริมกุลวินิจ บริเวณเทือกเขา เมาะแต บ.อูยิ ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จว.นราธิวาส ผลการปฏิบัติตัวประกันปลอดภัยจาก ขจก.ขบวนการพูโล พร้อมเผ่าทำลายที่พัก ๒๐ หลัง

ฉก.นย.ภต.(งป.๓๐-๓๒)

      วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๑ ใน๘ระที่ ผบ.ฉก.นย.ภต. (น.อ.ศุภนิตย์ จูฑะพุทธิ) กำลังต้อนรับคณะเยี่ยมชมและบรรยายสรุปให้กับคณะ รอง เสธ.ทหาร ที่ บก.ฉก.นย.ภต. ค่ายจุฬาภรณ์ บ.ทอน อ.เมืองจว.นราธิวาส ได้รับแจ้งเหตุด่วนจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายประจวบ พันธกุล ว่ามีกลุ่มโจรได้ลักลอบวางระเบิดองค์พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล พระคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดนราธิวาส (พระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง ๑๗.๐๐ เมตร สูงจากพลับเพลาถึงยอดเกตุบัวตูม ๒๓.๐๐ เมตร) ไม่ทรบข้อมูลเกี่ยวกับ ปริมาณและตำแหน่งที่วางภายใต้ฐานชุกชีภายในองค์พระ ผบ.ฉก.นย.ภต.จึงสั่งการให้ น.ท.ศักดิ์ชาย อุบลเดชประชารักษ์ รอง ผบ.ฉก.นย.ภต.ในขณะนั้น ประสานผู้เกี่ยวข้องในการอำนวยการค้นหาและกู้ระเบิด ต่อไปนี้เป็นข้อความสัมภาษณ์เหตุการณ์จาก น.อ.ศักดิ์ชาย อุบลเดชประชารักษ์ ผอ.กพร.นย.ปัจจุบัน

      “ วันนั้นผมยังจำได้ดีเกี่ยวกับตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประสานมายัง ฉก.นย.ภต. และ ผบ.ฉก.ฯ ได้สั่งการให้ผมไปอำนวยการค้นหา และกู้ระเบิด จนท.ชุดแรกซึ่งผมได้ประสานโดยเร่งด่วน คือ จนท.ชุด ช.ของ ฉก.นย.ภต.โดยมี จ.อ.พรพิทักษ์ จาดเจริญ เป็น หน.ชุด จัดกำลังพลได้ ๙ นาย รวมทั้งผมด้วย ออกเดินทางโดยด่วน โดยรถกระบะบรรทุกเล็กของ ฉก.นย.ภต.ไปยังบริเวณองค์พระ ซึ่งห่างจากหน่วยเราประมาณ ๒๕ กม.ใช้เวลาเดินทาง ๒๐ นาที ไปถึงที่หมายเวลา ๑๒๐๐ ผมได้บรรยายสรุปนัดหมายขั้นต้นบริเวณหน้าฐานองค์พระ ก่อนที่พวกเราทั้งหมดจะลอดลงไปช่วยกัน หาตำแหน่งของที่วางระเบิดภายใต้ฐานชุกชี ช่วยกันค้นหาอยู่ประมาณ ๔๐ นาที ผมก็สังเกตเห็นเชือกเส้นหนึ่งห้องยาวลงมาจาก ด้านบนฐานชุกชีใต้องค์พระ จึงสั่งการให้ทั้งหมดห้ามแตะต้องเชือก และลางสังหรณ์ผมก็เป็นจริง เมื่อส่ง จนท.ไต่คานขึ้นไปก็พบตะกร้าบรรจุระเบิดซุกซ่อนอยู่บนคาน ส่วนเชือกก็คือหนึ่งในระบบกลไกที่ดึงแล้วระเบิด คงเหลืออีกระบบก็คือระบบเวลานาฬิกา จึงสั่งให้ทุกคนออกไปรวมตัวกันข้างนอกอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจแบ่งมอบหน้าที่ครั้งสุดท้าย ซึ่งยังไม่ทราบว่าระเบิดจะตั้งไว้ระเบิดเวลาเท่าไร การกลับเข้าครั้งนี้ จนท.ช่าง อยู่ใต้องค์พระภายในฐานชุกชี และให้อีก ๒ นาย ไต่ขึ้นไปตามคานเพื่อทำการกู้ระเบิด ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิบัติงานภายใต้ภาวะความกดดันอย่างมาก เนื่องจากพบระเบิดจำนวนมากภายในตะกร้า ซึ่งไม่ทราบว่าจะระเบิดเมื่อไร ผมได้แต่ภาวนาให้พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล อำนาจบารมีแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คุ้มครองพวกเราให้ปลอดภัย และสำเร็จในการปฏิบัติครั้งนี้ด้วยใจระทึก ขณะเข้าทำการกู้ จนท.ชุด ช. ๒ นาย ซึ่งไต่ขึ้นไปบนบริเวณวางระเบิดใต้ฐานการปฏิบัติทุกขั้นตอนที่เห็นและลงมือปฏิบัติตั้งแต่ ลักษณะระเบิด ลักษณะการวาง องค์ประกอบต่าง ๆ เช่น นาฬิกา สายไฟ การเชื่อมโยงเป็นองค์ประกอบของระเบิด จนกระทั่งรายงานตัดสายไฟสีต่าง ๆ เป็นอันยุติการทำงานของระเบิด ซึ่งอีกเพียง ๓ นาที จะเป็นเวลา ๑๓๐๐ ซึ่งระเบิดถูกตั้งให้ระเบิดขึ้น ” นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งครั้งหนึ่งของทหารนาวิกโยธินภาคใต้ซึ่งได้สละแรงกายหรือแม้แต่ชีวิตเพื่อความอยู่เย็น เป็นสุขของราษฏรในพื้นที่และจรรโลงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหนือสิ่งอื่นใด

 
      
 

ฉก.นย.ภต.(งป.๓๓)

      เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ชุดปฏิบัติการได้ปะทะกับ ขจก.กลุ่ม เจ๊ะ อารง ทำให้ ขจก.เสียชีวิต ๑ คน ฝ่ายเราปลอดภัย ยึดค่ายได้ ๑ ค่าย

      เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๓ ชุดปฏิบัติการได้ปะทะกับ ขจก.กลุ่มมูจาฮีดีน ฮารับปันบารู ทำให้ ขจก.เสียชีวิต ๑ คน ฝ่ายเราปลอดภัย

ผลการปฏิบัติ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ – ปัจจุบัน

      - สามารถปราบปราม ขจก.ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างได้ผล ประชาชนในพื้นที่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ โรงเรียนต่าง ๆ เปิดสอนได้ตามปกติ การขู่เรียกเงินของ ขจก.เกือบจะไม่มี

      - ปะทะกับ ขจก. ๙๑ ครั้ง

      - เหยียบกับระเบิด ๑๓ ครั้ง

      - ถูกซุ่มโจมตี ๔ ครั้ง

      - ทำลายค่ายพัก ๔๔ ครั้ง

      - ยึดอาวุธ ปลย. M- 16 ๑๑ กระบอก

      - ปืนพก.๓๘ ๓ กระบอก

      - ปืนกลมือทอมสัน ๒ กระบอก

      - ปืน M-79 ๑ กระบอก

      - ปืนนาโต้ ๒ กระบอก

      - ปสบ.87 ๑ กระบอก

      - ปืนกลเมดเสน ๑ กระบอก

      - ยึดกระสุนปืนจำนวนมาก

      - ยึดเอกสารปลุกระดมจำนวนมาก

      - ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒๘ นาย บาดเจ็บ ๓๗ นาย

      - ฝ่าย ขจก.เสียชีวิต ๓๔ คน ถูกจับ ๑๐ คน มอบตัว ๑๒ คน

      - จคม.มอบตัว ๕ คน

 

รายชื่อผู้เสียชีวิต

น.อ.ชีวิน ปิ่นทอง (ป่วย)

น.ต.จตุรงค์ โกมลฐิติ

ร.ต. สุบิน ช่วยสงคราม

ร.ต.เดชา ขำจิตร

พ.จ.อ.วีระชน บุญชื่น

พ.จ.อ.มาโนช ปานสันเทียะ

พ.จ.อ.บุญศรี ขันอาสา

พ.จ.อ.ทินกร ทุมวงศ์

จ.อ.สมชาย สมัครการ

จ.อ.ไพบูลย์ แก้วอินทร์

จ.อ.ปิยะวัฒน์ ยิ้มทะโชติ

จ.อ.ขวัญชัย กระจายศรี

จ.อ.โกสินทร์ นุ้ยเมือง

จ.ท.โกมล เรืองสังข์

พลฯสุรินทร์ อินทรรงค์

พลฯ สุรินทร์ แก้วอินทร์

พลฯ สุนัน บัวหีด

พลฯ สมชาย คงเมือง

พลฯ สดชื่น ฤทธิชัย

พลฯ วิเชียร แซ่ลิ้ม

พลฯ ฟูอัฐ นิยมเดชา

พลฯ ไพฑูรย์ ศรีประทุม

พลฯ พาที ปิ่นนัย

พลฯ ประเสริฐ แก้วมณี

พลฯ ประยงค์ โสถิปิณฑะ

พลฯ บุญยัง น้อยเพิ่มพูน

พลฯ ดอรี อาหมัด

พลฯ เจริญ เวทยาวงศ์