ยุทธการผาภูมิ
 

     หลังจากการฝึกร่วมปี ๑๖ ตามแผนยุทธการสามชัย ในการปราบปราม ผกค.ที่ภูหินร่องกล้า บริเวณพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ได้เสร็จสิ้นไปด้วยความสำเร็จผลอย่างงดงาม แล้ว บก.ทหารสูงสุด ได้มีคำสั่งให้มีการฝึกร่วมในปี ๑๗ อีกครั้งหนึ่ง ตามแผนยุทธการผาภูมิ เพื่อปราบปราม ผกค.ที่ดอยผาจิ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของจังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน

      ยุทธการผาภูมิ เป็นการฝึกร่วมประจำปี ๒๕๑๗ ระหว่างสามเหล่าทัพ ร่วมกับกำลังตำรวจและพลเรือน เป็นการฝึกในลักษณะจริง คือ การปราบปรามผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ มีกองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบ ประสานการปฏิบัติโดยตรงกับกองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ และพลเรือน

      ตามคำสั่ง บก.ทหารสูงสุด ให้ ทร.จัดกำลังร่วมในการฝึก จึงขอให้ ทร.จัดตั้งกองอำนวยการฝึกร่วม ฝ่ายทหารเรือปี ๑๗ (กอฝ.ทร.๑๗) วางแผนควบคุมและอำนวยการด้านการสนับสนุน การปฏิบัติของหน่วยกำลัง ทร.ตามแผนการฝึกร่วมปี ๑๗ จัดตั้งกำลังเฉพาะนาวิกโยธินเข้าร่วมการฝึก โดยมอบให้ขึ้นการควบคุมอำนวยการแก่ กอฝ.ทร.๑๗ ตั้งแต่ขั้นเตรียมการจนเสร็จสิ้นการฝึก (กองทัพเรือมอบให้กรมนาวิกโยธิน เป็นหน่วยจัดกำลัง ๑ กองพันทหารราบเพิ่มเติมกำลัง)

การจัด ฉก.นย.๑๗๑

      การจัดกำลัง ๑ กองพันทหารราบเพิ่มเติมกำลังครั้งนี้ มีชื่อเรียกหน่วยนี้เป็นทางการว่า “ หน่วยกำลังเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๗๑” เรียกชื่อย่อว่า “ ฉก.นย.๑๗๑”

 
 

      เหตุผลที่เรียกชื่อหน่วยนี้เป็นตัวเลขว่า “ ฉก.นย.๑๗๑” เนื่องจากในขณะนั้น พลเรือโท โสภณ สุญานเศรษฐการ เป็น ผบ.นย.มีแนวความคิดว่าหากในปีนี้เรียกชื่อหน่วยนี้ว่า พัน.ฉก.นย.อีก ชื่อน้ำจะซ้ำกับ พัน.ฉก.นย.ในการปราบปราม ผกค.ที่ภูหินร่องกล้า ของปีที่แล้ว ผบ.นย.จึงกำหนดนโยบายในการให้ตัวเลขของหน่วยว่า “ ตัวเลข ๒ ตัวแรกจะเป็นปีของ พ.ศ.ที่ออกปฏิบัติการ และตัวเลขตัวหลังจะเป็นจำนวนครั้งของทหาร นย.ที่ออกปฏิบัติการในปี งป.นั้น ซึ่งในปีนี้นับเป็นปีแรกที่ นย.ใช้ระบบการเรียกชื่อของหน่วยเป็น ตัวเลขอย่างนี้ และ นย.ใช้ระบบนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งเลิกใช้เมื่อ งป.๒๗

       ฉะนั้น ฉก.นย.๑๗๑ จึงมีความหมายว่า นย.จัด ฉก.นย.หน่วยนี้ ออกปฏิบัติการในปี งป.๑๗ เป็นครั้งที่ ๑ ของปีงบประมาณนั้น

       การประกอบกำลังและยอดกำลังพล หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๗๑ (ฉก.นย.๑๗๑) กำลังพลรวม ๑,๒๔๗ นาย จัดจากหน่วยต่าง ๆ ดังนี้

             - ๑ พัน.ร.ผส.นย. (พัน.ร.๓ เป็นแกนจัด บก.พัน.มี ๔ ร้อย.ปล.จัดจาก พัน.ร.๑, พัน.ร.๒, พัน.ร.๓ และ พัน.ร.๗ กองพันละ ๑ ร้อย.ปล.)

             - ๑ ร้อย.ป.๑๐๕ มม.

             - มว.บ.ทร.๑๗๑ (จัดจาก กบร.กร.ประกอบด้วย บ.-โอ.๑ จำนวน ๓ เครื่อง, บ.เอชยู-๑๖ จำนวน ๑ เครื่อง และ บ.ซี-๔๗ จำวน ๑ เครื่อง)

            - ส่วนสนับสนุนทางการช่วยรบ (สชร.)

            - ชุดฝ่ายอำนวยการประสานการปฏิบัติกับ กกล.เขต. ทภ.๓

การเคลื่อนย้ายไปพื้นที่ปฏิบัติการ

      ฉก.นย.๑๗๑ สนธิกำลังที่สัตหีบและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทหารนาวิกโยธินจะต้องจารึกไว้ว่าได้รับการเคลื่อนย้ายกำลังทั้งกองพันเพิ่มเติมกำลังด้วยเครื่องบินของ กองทัพอากาศจากสัตหีบไปจังหวัดเชียงราย สำหรับพลทหารนั้นตื่นเต้นมากเพราะตลอดชีวิตนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้ ขึ้นเครื่องบินอย่างนี้อีก

      ฉก.นย.๑๗๑ ขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศ ชนิด ซี.๑๒๓ ออกเดินทางจากสนามบิน กองบิน ๗ สัตหีบ (บน.๗ ขณะนั้นยังเป็นของกองทัพอากาศ) เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ ไปลงที่สนามบิน อ.เชียงคำ จว.เชียงราย ต่อจากนั้นเคลื่อนย้ายด้วยยานยนต์เข้าพื้นที่ปฏิบัติการที่ดอยผาจิ จว.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน

 
การปฏิบัติการตามแผน
 
 

      แผนการฝึกร่วมปี ๑๗ ตามแผนยุทธการผาภูมิ บก.ทหารสูงสุด ได้กำหนดการปฏิบัติออกเป็น ๒ ช่วงคือ

      ช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ตุลาคม - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ เป็นการฝึกเสริมความมั่นคงเพื่อให้ความคุ้มครองและความปลอดภัยแก่ราษฎรในหมู่บ้าน ให้คำแนะนำในการป้องกันหมู่บ้าน สำรวจความเป็นอยู่ของราษฎร ปฏิบัติการจิตวิทยา รวมทั้งการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อตัดสัมพันธ์ระหว่าง ผกค.ในป่ากับราษฎรในหมู่บ้าน พื้นที่ปฏิบัติการจอง ร้อย.๑ และ ร้อย.๒ อยู่ บ.ตอง, บ.พร้าวกุด, ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จว.เชียงราย ร้อย.๔ เป็นกองหนุน ทก.ฉก.นย.๑๗๑ ตั้งอยู่พื้นที่ อ.ปง จว.เชียงราย

      ช่วงที่ ๒ เป็นการปฏิบัติการขั้นแตกหัก ตั้งแต่ วันที่ ๙ – ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๖ รวมระยะเวลาในการปฏิบัติการรบครั้งนี้ ๒๒ วัน โดย ร้อย.๑ และ ร้อย.๒ ฉก.นย.๑๗๑ ได้รับมอบพื้นที่ปฏิบัติการที่ บ.ขุนน้ำยัด ดอยผาจิ อ.ปง จว.เชียงราย ได้ใช้กำลังพิสูจน์ทราบ และกวาดล้าง ผกค.ตามพิกัดเป้าหมายที่ได้รับมอบจากหน่วยเหนือ และสามารถยึดที่หมายต่าง ๆ ไว้ได้สำเร็จตามภารกิจที่ได้รับมอบ

      ร้อย.๑ และ ร้อย.๒ ฉก.นย.๑๗๑ ได้เดินทางกลับสู่พื้นที่ราบถึงฐาน บ.ผาตั้ง เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๖

      ฉก.นย.๑๗๑ เมื่อสำเร็จภารกิจที่ได้รับมอบและจบการฝึกฝึกร่วมปี ๑๗ ตามแผนยุทธการผาภูมิแล้วได้เคลื่อนย้ายกลับที่ตั้งปกติโดยทางรถไฟถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง และเคลื่อนย้ายต่อด้วยยานยนต์กลับสัตหีบ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๑๗ รวมเวลาในการเดินทางไปปฏิบัติการครั้งนี้ ๘๔ วัน

 
บทเรียนจากการรบ
 
      จากการปฏิบัติการปราบปราม ผกค. ที่ดอยผาจิ อ.ปง จว.เชียงราย นั้น ท่าน พล.ร.ท.ธรรมนูญ นาคสกุล (อดีต เสธ.ฉก.นย.๑๗๑) ได้กรุณาเขียนเรื่องราวจาก ประสบการณ์ ของท่าน เพื่อเผยแพร่ให้กับทหาร นาวิกโยธินรุ่นใหม่ได้ศึกษาดังนี้
 

      ๑. การใช้หน่วยขนาดเล็ก ขนาด มว.ปล.ในพื้นที่ปฏิบัติการที่ราบจะสามารถป้องกัน Landing Zone (L.Z) ทำให้ ฮ.ขึ้นและลงได้ปลอดภัย แต่ในพื้นที่ปฏิบัติการที่เป็นภูเขาและมีพื้นที่สูงข่ม จำเป็นจะต้องใช้กำลังขนาด ร้อย.ปล.จึงจะทำให้ L.Z. ปลอดภัย แต่ทั้งนี้ ร้อย.ปล.จะต้องส่งกำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดป้องกันพื้นที่สูงข่มนั้นด้วย

      ๒. การเน้นการเกาะข้าศึก จำเป็นในกรณีต้องการทราบ ฐานที่มั่นของ ผกค.แต่ในการปฏิบัติการครั้งนี้ไม่จำเป็นเพราะภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ให้พิสูจน์ทราบและทำลาย ทำให้ฝ่ายเราสามารถเลือกแนวทางการเคลื่อนที่เข้าสู่ที่หมายที่ได้รับมอบ ไม่จำเป็นจะต้องทำการเกาะ ผกค.ซึ่งอาจจะทำการหลอกนำฝ่ายเรา ไปยังจุดซุ่มโจมตี หรือจุดที่วางกับระเบิดไว้เป็นเหตุให้สูญเสียโดยไม่จำเป็น

      ๓. การปฏิบัติการฉับพลันจากการส่งหน่วยลาดตระเวน ออกไปยังพื้นที่คับขัน ผกค.มีความคล่องตัวและชำนาญในพื้นที่ป่าภูเขามากกว่าฝ่ายเรา ดังนั้น เมื่อมีการปฏิบัติฉับพลัน ฝ่ายเราย่อมเสียเปรียบและสูญเสียโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ฝ่ายเราสามารถใช้ปืนแก้ปัญหาแทนได้ โดยปรับการยิง ป.สลายการเกาะของ ผกค. และปรับการยิง ป.เคลียร์ให้ ผกค.สลายไปจากพื้นที่คับขันนั้น ๆ ได้

      ๔. เมื่อหน่วยเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ ในโอกาสแรกจะต้องวางแผนการยิงสนับสนุนให้กับ ร้อย.ปล. แผนการยิงสนับสนุนต่าง ๆ ต้องมีการวางแผน และประสานกับหน่วยต่าง ๆ เป็นอย่างดี (ทบ. และ ทอ.) ในขั้นแรกจะใช้ ป.๑๐๕ มม. ของ นย.ยิงสนับสนุน เมื่อเคลื่อนที่เกินระยะยิงของ ป.๑๐๕ มม.จะแจ้งให้ ร้อย.ปล.ทราบ และประสานการยิงกับ ป.๑๕๕ มม.ของ ทบ. หากที่หมายอยู่ไกลเกินระยะยิงของ ป.๑๕๕ มม. ร้อย.ปล.จะร้องขอรับการสนับสนุน บ.ทอ.ทำให้ภารกิจในการพิสูจน์ทราบ ผกค.ตามที่หมายต่าง ๆ ได้บรรลุผลสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจ อีกทั้ง พัน.ฉก.นย.๑๗๑ ได้รับการยอมรับจากวงการต่าง ๆ ว่าได้สร้างศักดิ์ศรีและชื่อเสียงเกียรติคุณ ให้กับนาวิกโยธินและกองทัพเรือ