สงครามอินโดจีน
 

     เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้าพระยายมราช และ พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนต์โยธิน ลงนามในประกาศ และพระยามานวราชเสวีประธานสภาผู้แทนราษฏรเป็นผู้สนองพระบรมโอง การจำนวนคณะรัฐมนตรี ๒๔ คน

      รัฐบาลสมัยพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้ปรับปรุงกำลังทหารอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเข็มแข็งทางการเมืองและทางการทหาร ภายในประเทศคือ สถานการณ์ในขณะนั้นมีทีท่าว่าจะเกิดสงครามใหญ่ขึ้น ทางทวีปยุโรปตะวันตก และทางเอเซียตะวันออก ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้ทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินในการป้องกันประเทศมากขึ้น เช่น ใน พ.ศ.๒๔๘๑ กระทรวงกลาโหมขอตั้งงบประมาณพิเศษ สำหรับซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องบินรบเป็นจำนวนเงินถึง ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เพิ่มเติมอีกประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเตรียมไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และอนุมัติให้จ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงทหารเกณฑ์ กองประจำการปี ๒ เป็นเงิน ๑,๙๙๒,๔๘๘ บาท เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดกองทัพไทยแบบสมัยใหม่อาศัยการเคลื่อนที่ด้วยยายนต์ กระทรวงกลาโหม จึงได้ของบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน ๔,๙๙๘,๙๘๘ บาท เพื่อเป็นค่าซื้อยานยนต์และค่าก่อสร้างโรงทหารชั่วคราวขึ้นซึ่งได้รับอนุมัติ จากคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน

     นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เพิ่มกำลังทหารทั้งสามเหล่าทัพขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์สงคราม ประกอบด้วยกองทัพ ๒ กองทัพ คือกองทัพบูรพา และกองทัพอิสาน มีอัตรากำลัง ๗๕ กองพันรวมกำลังพลทั้งสิ้น ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน

 
การเรียกร้องดินแดนคืน
 

     ในระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๐-๒๔๕๐ ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสรวมจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๙๓.๕๐ ของเนื้อที่ประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๕๑๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เท่านั้น การเสียดินแดนดังกล่าว เป็นการถูกบังคับ นอกจากนี้ในการกำหนดการปักปันเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสมิได้ยึดถือ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และความยุติธรรม คือ ฝรั่งเศสมิได้ถือร่องน้ำบึก(THALWEG)เป็นเส้นเขตแดน แต่ฝรั่งเศสกลับถือ ว่าบรรดาเกาะทั้งหลายในลำน้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสทั้งสิ้น และดอนซึ่งอยู่ติดเขตแดนฝั่งไทยที่มีร่องน้ำตื้นลุยข้ามได้นั้นฝรั่งเศสก็ถือว่า เป็นเกาะ ประเทศไทยในฐานะประเทศเล็กก็ได้ดำเนินนโยบายไม่เป็นปฏิปักษ์กับฝรั่งเศสตลอดมา

      ใน พ.ศ.๒๔๘๑ รัฐบาลสมัยพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้รื้อฟื้นเรื่องการปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยฝ่ายไทยเสนอให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดนแต่ฝรั่งเศสบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๒ การดำเนินการปรับปรุง เส้นเขตแดนดังกล่าวก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

      ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลไทย รัฐบาลฝรั่งเศส และรัฐบาลอังกฤษได้ลงนามร่วมกันในกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน ที่กรุงเทพฯ และได้มีการลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

      ระหว่างที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินการเจรจาเรื่องการปรับปรุงเส้นเขตแดนอยู่นั้น สถานการณ์ในอินโดจีนเริ่มมีความตึงเครียดขึ้น คือ หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามทางด้านทวีปยุโรป และยอมลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมันในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓ แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ฉวยโอกาสจากความเสื่อมอำนาจของฝรั่งเศสยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลวิชให้ปิดพรมแดนระหว่างอินโดจีนฝรั่งเศสกับประเทศจีน ตอนใต้เสีย และอนุญาตให้ญี่ปุ่นส่งผู้ตรวจการไปควบคุม เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลจีนที่กรุงจุงกิง ภายใต้การนำของจอมพลเจียง ไคเช็ค จะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ญี่ปุ่นได้ส่งทหารเข้าสู่อินโดจีนฝรั่งเศส ประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน โดยความยินยอมของรัฐบาลวิช

      ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้ส่งคณะทูตพิเศษเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ณ กรุงฮานอย ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๓ โดยมี พันเอกหลวงพรหมโยธี และพันตรี ไชย ประทีปเสน เป็นผู้แทนของรัฐบาลไทยไปเจรจาเพื่อขอปรับปรุงเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขง ส่วนที่กรุงเทพฯ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเจรจากับนายปิสสิแอร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยด้วยแต่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปฏิเสธ ข้อเสนอของรัฐบาลไทย ที่จะให้ถือเอาร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ฝ่ายฝรั่งเศสยังคงต้องการรักษาสถานภาพเดิมของอินโดจีนต่อไป และแสดงเจตนารมณ์ว่าจะป้องกันอินโดจีนฝรั่งเศสไว้จนถึงที่สุด

      หลังจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลไทยแล้ว ต่อมาในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๓ ได้เกิดปฏิกิริยาเดินขบวนเรียกร้อง สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเรียกร้องดินแดนเดิมของไทยกลับคืนมาจกฝรั่งเศส โดยนิสิต นักศึกษา และประชาชน

      ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสจึงเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น และมีการละเมิดเส้นเขตแดนหลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นครั้งแรกที่เครื่องบินรบของอินโดจีนฝรั่งเศสล้ำเส้นเขตแดนไทยเข้ามาทางฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตจังหวัดนครพนมและต่อมาเครื่องบินของอินโดจีนฝรั่งเศสได้ล้ำเส้นของเขตแดนไทยอีก จนกระทั่งนำไปสู่การสู้รบที่ไม่มีการ ประกาศอย่างเป็นทางการ ระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ จนถึงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔

 
การเตรียมการรบ
 

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ ดังนี้

      ๑. ให้พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด อีกตำแหน่งหนึ่ง มีอำนาจสิทธิขาดบังคับบัญชา แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ และแต่งตั้งข้าราชการได้ตามที่เห็นสมควร

      ๒. ให้พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบก รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งแม่ทัพบก อีกตำแหน่งหนึ่ง

      ๓. ให้พลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่ง แม่ทัพเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง

      ๔. ให้นาวาอากาศเอก หลวงอธึกเทวเดช รองผู้บัญชาการทหารอากาศ รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่ง แม่ทัพอากาศ อีกตำแหน่งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ออกคำสั่งบรรจุทหารเข้ารับราชการในกองทัพสนาม ดังนี้

      ๑. นาวาอากาศเอก พระศิลปศัตราคม เป็นเสนาธิการกองทัพสนาม

      ๒. พันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นรองแม่ทัพบก

      ๓. พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นผู้ช่วยแม่ทัพบก

      ๔. พันเอก หลวงวิชิตสงคราม เป็นเสนาธิการกองทัพบก

      ๕. พันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพที่ ๑

      ๖. พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพที่ ๒

      ๗. พันเอก พระประจนปัจจนึก เป็นผู้อำนวยการส่งกำลัง

      ๘. นาวาเอก หลวงนาวาวิจิตร เป็นเสนาธิการกองทัพเรือ

      ๙. นาวาอากาศเอก หลวงเทวฤทธิ์พันลึก เป็นเสนาธิการกองทัพอากาศ

     ๑๐. พันเอก พระยาศักดาดุลยฤทธิ์ เป็นผู้บัญชาการเขตภายใน

     ๑๑. พันเอก พระยาอภัยสงคราม เป็นที่ปรึกษาผู้บัญชาการเขตภายใน

     ๑๒. นาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ เป็นที่ปรึกษาผู้บัญชาการเขตภายใน

     และในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี พระยาพหลพลหยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จเรทั่วไป เป็นที่ปรึกษาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง และให้พันเอก หลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง

และในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ออกคำสั่งแม่ทัพด้านดังนี้

     ๑.ให้พันเอก หลวงพรหมโยธี แม่ทัพที่ ๑ เป็นแม่ทัพด้านบูรพา

     ๒.ให้พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต แม่ทัพที่ ๒ เป็นแม่ทัพอิสาน

 
การปฏิบัติการรบ
 

      หลังจากสถานการณ์ในอินโดจีนได้เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การสู้รบที่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ เวลา ๐๘๐๐ เครื่องบินขับไล่ของฝรั่งเศส ๕ เครื่อง พร้อมด้วยเครื่องบินตรวจการณ์อีก ๑ เครื่อง เข้ามาโจมตีที่จังหวัดนครพนม ฝ่ายไทยใช้เครื่องบินขับไล่ ๓ เครื่องเข้าขัดขวาง แต่เครื่องบินฝรั่งเศสได้โจมตี ทิ้งระเบิดแล้วหนีไป ฝ่ายไทยได้รับความเสียหายจากลูกระเบิด ๓ ลูก ตำรวจบาดเจ็บ ๓ คน ผู้หญิงและเด็กบาดเจ็บ ๓ คน

      รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจใช้กำลังทหาร เพื่อป้องกันประเทศโดยทันที ได้ออกคำสั่งให้กองพลลพบุรีเคลื่อนย้ายไปเข้าที่รวมพลที่จังหวัดปราจีนบุรี ขณะเดียวกันได้สั่งให้ กำลังทางอากาศไปโจมตีเป็นการตอบโต้ด้วย

      ต่อมาในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๓ ฝ่ายไทยได้ประกาศระดมพล และสั่งเคลื่อนกำลังทหารส่วนใหญ่เข้าประจำชายแดนเพื่อเข้าตีโต้ตอบ โดยการจัดกำลังเป็นกองทัพ ด้านบูรพาเข้าตีทางชายแดนด้านตะวันออก ตั้งแต่อรัญประเทศไปจรดฝั่งทะเล กองทัพอิสานปฏิบัติการทางด้านจังหวัดสุรินทร์ อุบล และสนับสนุนการปฏิบัติของกองพลพายัพ เข้าปฏิบัติการทางด้านหลวงพระบาง

      กองทัพด้านบูรพาได้รับคำสั่งให้ทำการเข้าตีตามทิศทางแนวถนนอรัญประเทศศรีโสภณ พระตะบอง ไปพนมเปญ และให้ทำยุทธบรรจบกับกองทัพอิสานทางด้านสุรินทร์ เพื่อทำการรุกต่อไปเพื่อยึด เสียมราฐ นครวัด กำปงทม และพนมเปญ อีกทางหนึ่ง

      การปฏิบัติของกองทัพด้านบูรพานี้คือให้กองพลวัฒนาที่มายึดป้องกันชายแดนในขั้นต้นกับกองพลลพบุรีและกองกลพระนคร ทำการรุกทางด้านอรัญประเทศ ปอยเปต ศรีโสภณ และเตรียมการรุกต่อไปทางใต้เพื่อยึดพนมเปญ

      ส่วนกองพลนาวิกโยธินจันทบุรีให้ทำการเข้าตีทางไพลินำไปบรรจบกับกองพลลพบุรีที่พระตะบอง การรุกทางด้านอรัญประเทศ ในขั้นต้นให้กองพลพระนคร อยู่ทางด้านเหนือ กองพลลพบุรีอยู่ทางใต้ ส่วนกองพลวัฒนาเป็นกองหนุน ให้กองพลลพบุรีไปทำการบรรจบกับกองพลนาวิกโยธินจันทบุรี ที่พระตะบอง ส่วนกองพลพระนครให้ทำการบรรจบกองทัพอิสานด้านสุรินทร์ที่ศรีโสภณและเสียมราฐ

 
การปฏิบัติของกองพลจันทบุรี
 

      กองพลจันทบุรีปฏิบัติการในเขตพื้นที่จังหวัดทหารบกจันทบุรี เป็นกองพลในกองทัพด้านบูรพา มีหน้าที่ขับไล่ข้าศึกทางช่องไพลิน และรุกเข้าหาพระตะบอง เพื่อช่วยการเคลื่อนที่ของกองพลผสมปราจีนเคลื่อนที่ออกจากอรัญประเทศ กองพลจันทบุรีจึงเป็นกองพลทางปีกขวาสุดของกองทัพบูรพา กองพลจันทบุรีประกอบกำลังดังนี้

      กองพันที่ ๑ นาวิกโยธิน น.ต.หลวงอธึกโยธิน ร.น.เป็น ผบ.พัน

      กองพันที่ ๒ นาวิกโยธิน น.ต.สันต์ สันติวาสะ ร.น.เป็น ผบ.พัน

      กองพันที่ ๔ ทหารม้า (ทหารบก) พ.ต. ขุนเจริญสุรไกร เป็น ผบ.พัน ภายหลังใช้จักรยาน

      กองสื่อสาร (ทหารบก) ร.อ.สระ สุรวรรธนะ เป็น ผบ.กอง ต่อมาได้เสริมกำลังเพิ่มขึ้นคือ

      กองพันที่ ๓ นาวิกโยธิน น.ต.เที่ยง เสถียรไทย ร.น.เป็น ผบ.พัน

      กองพันปืนใหญ่ นาวิกโยธิน ร.อ.ประดิษฐ์ พูลเกษ ร.น.เป็น ผบ.พัน

      กองช่าง (ทหารบก) ร.ท.ประเสริฐ รอดวรรณะ เป็น ผบ.กอง

      ตำรวจสนาม

      การลำเลียงได้เริ่มลำเลียงจากสัตหีบและกรุงเทพฯ ไปจันทบุรีและตราด เริ่มตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ สุดสิ้นในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ รวม ๗ เที่ยว

      เรือที่ใช้ลำเลียง มีเรืออ่างทอง เรือช้าง เรือเจ้าพระยา เรือพงัน เรือคราม การคุ้มกันระหว่างเรือลำเลียงเดินทางได้ใช้เครื่องบินของกองบินน้อยผสม ๗๕ และเรือรบ แต่บางครั้งก็เสี่ยง โดยไม่มีเรือคุ้มกันเลยเพราะเรือรบต้องนำไปใช้ราชการอื่นเสียหมด

      การรบในป่าเช่นนี้ ต้องจ่ายยาควินินให้วันละ ๓ เม็ด เพื่อป้องกันมาเลเรีย ถนนหนทางไม่ดี ทหารส่วนมากต้องเดินเท้าเพราะรถใช้การได้เพียงเล็กน้อย ทางจังหวัดต้องช่วยทำสะพานข้ามห้วยให้

      การยาตราทัพต้องดำเนินไปเป็นจุด ๆ คือ จังหวัดจันทบุรี – อำเภอมะขาม – วัดโป่งโรงเซ็น – ข้ามช่องเขาเกลือ – บ้านมาบคล้า – กิ่งอำเภอโป่งน้ำร้อน – บ้านผักกาด จากจันทบุรีได้วางสายโทรศัพท์ ติดต่อไปถึงกิ่งอำเภอโป่งน้ำร้อน

     วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ฝรั่งเศสบุกมาทางบ้านอูลำเจียก ซึ่งเป็นเขตไทย ได้เกิดปะทะกันประปราย กองร้อย ๑ ปืนกลหนัก จากวัดโป่งจึงเคลื่อนกำลังไปบ้านมาบคล้า และวันที่ ๗ ก็ไปถึง กิ่งอำเภอโป่งน้ำร้อนได้สำรวจไปยังบ้านผักกาด – บ้านอูลำเจียก (บ้านโอลำเจียก ปัจจุบัน) – บ้านคลี – บ้านคลองใหญ่ ซึ่งเป็นชายเขต (ไม่ใช่คลองใหญ่ จังหวัดตราด – ชื่อซ้ำกัน) ไม่พบข้าศึก ในวันที่ ๙ ธันวาคม ได้ให้ทหารราบ ๒ กองร้อยไปประจำอยู่ที่บ้านคลองใหญ่ และได้วางกำลังทหารรักษาจุดต่าง ๆ คือบ้านโป่งสะลา (ราบ ๑ กองร้อย) บ้านบึงชะนังกลาง และบ้านบึงชะนังล่าง (ราบ ๑ กองร้อย ปืนกลหนัก ๑ หมู่) บ้านแหลม (ม้า ๑ หมวด)

     เนื่องด้วยเขาเกลือเป็นทางซึ่งต้องใช้ต่างลำบากแก่การขนส่ง จึงคิดจะทำทางให้รถยนต์เดินได้ ได้ระเบิดดินและทำสะพานข้ามห้วยจนเป็นถนน สามารถให้รถยนต์เดินได้ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ส่วนเส้นเกวียนอื่น ๆ ก็ทำให้รถยนต์เดินได้วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ยิ่งอยู่ประจำนาน ๆ วันเข้า ปรากฏว่าข้าวและหญ้าขาดแคลน ทำให้ม้าเริ่มทรุดโทรมลง

 
     
 
การปะทะ
 

      วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ทหารญวน ๓๐ คน บุกข้ามพรมแดนจากบ้านห้วยเขมร เข้ามาปะทะกับหมู่คอยเหตุของทหารม้า ณ บ้านอูลำเจียก นายทหารฝรั่งเศสควบคุมมา มีปืนกลเบามา ๒ กระบอก ได้ปะทะกับหมู่กลเบาของเราอยู่ ๒๐ นาทีก็หนีไป ตามข่าวว่าข้าศึกเสียชีวิต ๓ คน

      วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ ได้เกิดต่อสู้ระหว่างฝ่ายเรากับข้าศึกที่ไร่ยาสูบหลักกิโลเมตร ๕๘-๕๙ ข้าศึกมี ๔๐ คน ปืนกลเบา ๓ กระบอก ฝ่ายเราเป็นหมู่ลาดตระเวน ๒๐ คน พร้อมด้วยตำรวจฯ อีก ๑๐ คน กำลังฝ่ายเราที่บ้านบึงชะนังกลาง ได้ยินเสียงปืน จึงส่งกำลัง ๒ หมู่ปืนกลเบาช่วยเหลือ ข้าศึกถูกยิงทั้งทางตรงและทางข้าง จึงได้ถอยหนีไปปรากฏว่าข้าศึกตาย ๕ ศพ

      วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เกิดการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเรากับข้าศึกที่บ้านกุมเรียงล่าง กำลังฝ่ายเรามีปืนกลเบา ๒ หมวด และภายหลังขณะรบติดพันได้เพิ่มปืนกลเบาอีก ๑ หมวด พร้อมปืนกลหนัก ฝ่ายข้าศึกมีกำลังประมาณ ๑ กองพัน มีอาวุธปืนกล ลูกระเบิดยิงและเครื่องยิงลูกระเบิด ฝ่ายเราเป็นฝ่ายรุกจากบ้านบึงชะนังล่างเข้าไปในดินแดนข้าศึก แต่ถูกข้าศึกต่อต้านไว้อยู่ ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒ คน เป็นนายทหารม้า ๑ คน คือ นายร้อยโท ผลึก โทณวณิก สังกัด กองพันที่ ๔ ทหารม้า บาดเจ็บสาหัส ๑ คน

      วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เกิดการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเรากับข้าศึกที่บ้านโป่งสะลา โดยนายทหารฝรั่งเศสนำทหารญวน ๖๐๐ คน พร้อมด้วยปืนกล, ปืนเล็ก, ลูกระเบิดยิง, ลูกระเบิดขว้าง และเครื่องยิงลูกระเบิด บุกเข้าโจมตีที่มั่นของเราซึ่งมีกำลังเพียง ๑ กองร้อยปืนกลเบา ฝ่ายเราเสียชีวิต ๔ คน สิ่งของในที่พักถูกไฟไหม้ กับถูกจับไปเป็นเชลย ๑ คน

      วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ เวลา ๑๙๔๕ กองพัน ๒ ที่บ้านบึงชะนังได้รับคำสั่งให้ตีข้าศึกที่บ้านกุมเรียงล่าง ได้เคลื่อนทัพในเวลา ๐๐๐๐ ครั้นเวลา ๐๘๒๕ ถูกข้าศึกยิงด้วยอาวุธทุกชนิด แต่เรายังรุกคืบหน้าไปได้จนห่างจากแนวที่มั่นข้าศึกประมาณ ๑๐๐ เมตร ข้าศึกหยุดยิงและยกธงขาวเป็นการแสดงว่าเวลานี้ทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจากันในทางทูต ฝ่ายเราคงหมดกำลังที่จะบุก ดังนั้นในวันที่ ๒๘ จึงได้ตรึงกำลังกันอยู่เช่นนั้น จนถึงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๓๐๐ ข้าศึกจึงได้ถอนตัวออกจากบ้านกุมเรียงล่างตามคำสั่งของคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ฝ่ายเราจึงได้เข้ายึดบ้านกุมเรียงล่างไว้ในเวลา ๑๘๐๐

ในวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ นี้เอง กำลังรบที่บ้านอูลำเจียก ก็ได้รับคำสั่งให้รุกไปยึดไพลิน กำลังที่บ้านอูลำเจียก มีกำลังรบ ปืนกลเบา ๒ กองร้อย กับปืนกลหนัก ๑ หมู่ และมีกำลังหนุน คือ ปืนกลเบา ๑ กองร้อย กับปืนกลหนัก ๑ กองร้อย เส้นทางที่จะผ่านไปยังไพลินนั้นต้องผ่านบ้านห้วยเขมร, บ้านบ่อตั้งสู้, บ้านตั้งมะไฟ, บ้านบ่อหญ้าคา, บ้านสรอบ แล้วจึงจะถึงไพลิน

      ในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ เวลา ๐๖๓๐ เข้ายึดบ้านตั้งสู้ได้ เพราะข้าศึกไม่รู้ตัว ทั้งนี้เพราะคนนำทางนำไปทางลัด ไม่ตรงกับตำบลที่ข้าศึกวางแนวต้านทานไว้ เวลา ๐๘๓๐ เข้ายึดบ้านตั้งไฟได้ เพราะข้าศึกไม่สู้ ได้รุกไปยังบ้านบ่อหญ้าคาก็ไม่มีการต่อสู้อีก ครั้นรุกไปถึงบ้านสรอบ จึงปรับแนวห่างจากข้าศึก ๒๐๐ เมตร ข้าศึกมิได้ทำการยิงแต่ยกธงขาวโบกไปมา เป็นสัญญาณว่าเวลานี้ทั้งสองฝ่ายกำลังทำการตกลงกันทางทูต ฝ่ายเราจึงหยุด ยึดภูมิประเทศบริเวณ บ้านสรอบ เพื่อตรึงข้าศึกไว้เมื่อเวลา ๑๕๓๐

      ขณะกำลังพักรบนี้ได้ปะทะกันอีก ๒ ครั้งคือ

      วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๔ เวลา ๑๒๐๐ ข้าศึกบุกจากบ้านศาลานอก เข้าล้อมจับตำรวจสนามที่บ้านกุมเรียงล่าง จับตำรวจของเราไปได้ ๔ คน

      วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๔ เวลา ๑๐๔๕ ข้าศึกเข้าโจมตีตำรวจสนามที่บ้านซองเจ๊ก ทางทิศตะวันออกของบ้านกุมเรียงล่างประมาณ ๘ กิโลเมตร แต่เราต้านทานจนข้าศึกหนีไป

       กองพลจันทบุรี ถอนทหารกลับที่ตั้งปกติ ณ สถานีทหารเรือสัตหีบ เที่ยวสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๔ รวมเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้น ๔ เดือน ๑๑ วัน

 
 
ผลการปฏิบัติ
 

ในการยุทธตอนที่ ๑ ของกองพลจันทบุรี ฝ่ายเราสามารถเข้ายึดที่หมายขั้นที่ ๑ ของกองรบทั้งสองด้านได้ตามแผนที่กำหนดไว้ดังนี้คือ

      การยึดที่หมายขั้นที่ ๑ ของกองพลจันทบุรีแบ่งเป็นขั้น ๆ คือ กองรบด้านเหนือ (วางกำลังเข้าที่บริเวณบ้านบึงชะนัง) แบ่งขั้นการเคลื่อนที่ดังนี้

            ขั้นที่ ๑ รุกเข้ายึด บ.กุมเรียง ระยะทาง ๖ กม.

            ขั้นที่ ๒ เคลื่อนที่จาก บ.กุมเรียงล่าง ตรงเข้ายึด บ.โป่งกะเชียง โดยความช่วยเหลือจากหน่วยที่เคลื่อนที่มาจาก บ.โป่งสลา ระยะทางประมาณ ๗ กม.

            ขั้นที่ ๓ เคลื่อนที่จาก บ.โป่งกะเชียง ตรงเข้ายึด บ.ศาลานอก ระยะทางประมาณ ๑๐.๕ กม.

            ขั้นที่ ๔ เคลื่อนที่จาก บ.ศาลานอก ตรงเข้าบริเวณไพลิน

      กองรบด้านใต้ (วางกำลังเข้าที่บริเวณ บ.คลองใหญ่) แบ่งขั้นการเคลื่อนที่ดังนี้

            ขั้นที่ ๑ เคลื่อนที่ออกจาก บ.อูลำเจียก รุกเข้ายึด บ.ห้วยเขมร, บ.บ่อหญ้าคา ระยะทางประมาณ ๙ กม.

            ขั้นที่ ๒ เคลื่อนที่ออกจาก บ.ห้วยเขมร, บ.บ่อหญ้าคา ตรงเข้ายึดเมืองไพลิน ระยะทางประมาณ ๙ กม.

 
สรุปผลการปฏิบัติ
 

      ตามแผนยุทธการตามหน้าที่กองพลจันทบุรีคือ ขับไล่ข้าศึกทางช่องทางไพลิน และรุกเข้าหา พระตะบอง เพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนที่ของ กองพลผสมปราจีน โดยแบ่งที่หมายของกองพลจันทบุรี ออกเป็นขั้น ๆ คือ

      ที่หมายขั้นที่ ๑ ไพลิน ระยะทาง ๑๔ กม.จาก บ.ผักกาด

      ที่หมายขั้นที่ ๒ แตรง ระยะทาง ๓๕ กม.จากไพลิน

      ที่หมายขั้นที่ ๓ สำโรง ระยะทาง ๒๒ กม.จาก แตรง

      ที่หมายขั้นที่ ๓ พระตะบอง ระยะทาง ๒๖ กม.จาก สำโรง

      การปฏิบัติของกองพลจันทบุรี สามารถปฏิบัติตามแผนยุทธการตอนที่ ๑ ของกองพลจันทบุรีสามารถเข้ายึดที่หมายขั้นที่ ๑ ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากที่กองพลจันทบุรีกลับที่ตั้งปกติแล้ว น.ต.ทองหล่อ ขำหิรัญ ผู้บัญชาการกองพลจันทบุรี กับ ร้อยเอก ทองเหลือ โกศินานนท์ เสนาธิการกองพลจันทบุรี พร้อมด้วยทหารได้จัดสร้างศาลเทพารักษ์ถวายเจ้าแม่เขาเกลือ ที่ได้ช่วยปกปักษ์ รักษาคุ้มครองอันตรายกำลังพลของกองพลจันทบุรีทุกคนจนประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้แก่ทหารนาวิกโยธินมาจนทุกวันนี้

 
 
บทเรียนจากการรบ
 

การเตรียมการ

     ๑.ต้องปกปิดความมุ่งหมายของฝ่ายเราไม่ให้ข้าศึกทราบที่หมายของเราว่าจะมุ่งเข้าหาที่ใด วางกำลังไว้ทุกจุด

     ๒.การโยกย้ายกองหนุน จะต้องกระทำอยู่เสมอ เพื่อปกปิดความมุ่งหมาย หรือจุดน้ำหนักในการเข้าตี

     ๓.การทราบความเคลื่อนไหวของข้าศึก ลักษณะภูมิประเทศและเส้นทางเป็นความสำคัญสำหรับการเตรียมการ

การจัดหน่วยและจัดกำลังให้เหมาะแก่ลักษณะภูมิประเทศ

     ๑.จัดหน่วยในการเข้าตีที่หมายอันเดียวกันหลาย ๆ หน่วย เพื่อให้สามารถโอบและล้อมข้าศึกได้หลาย ๆ ทาง

     ๒.การจัดกำลัง ต้องจัดเป็นหน่วยย่อย ๆ เป็นหลายหน่วย โดยอาศัยช่องทางหลายทางเคลื่อนที่เข้าหาข้าศึก แต่ละหน่วยต้องมีปืนกลหนัก

     ๓.การจัดปืนใหญ่ต้องมีปืนใหญ่ติดตามช่วยเหลือหน่วยทหารราบอย่างใกล้ชิดเนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่า ยากแก่การตรวจผลการยิง

การปฏิบัติ

     ๑.การลาดตระเวน เนื่องด้วยลักษณะการตั้งรับของข้าศึก(ตั้งรับในหมู่บ้าน)และภูมิประเทศ เป็นป่าเขา ลาดตระเวนทางอากาศไม่ได้ นอกจากทางพื้นดินจึงควรปฏิบัติดังนี้

         ๑.๑ ลาดตระเวนอย่างเปิดเผย ทำการเข้าตี เมื่อทราบรูปการตั้งรับของข้าศึกแล้วถอนตัวกลับ

         ๑.๒ ลาดตระเวนอย่างปกปิด เข้าตรวจดูรูปการตั้งรับ การวางกำลังของข้าศึก

      ทั้งสองกรณีจะปรากฏผลดีกล่าวคือ ทำให้ข้าศึกเข้าใจผิดว่าฝ่ายเราจะเข้าตีในทางที่ได้ทำการลาดตระเวนอย่างเปิดเผย ฉะนั้นเมื่อจะวางน้ำหนักในการเข้าตีทางใด ถ้าสามารถทำได้ควรทำการลาดตระเวนอย่างปกปิด

     ๒.การเข้าตี การปฏิบัติการอย่างจู่โจม โดยอาศัยความมืดเป็นเครื่องมือปกปิดการเคลื่อนที่จะเป็นผลดีมาก แต่ทั้งนี้จะต้องอาศัย

         ๒.๑ ผู้นำทางที่ซื่อสัตย์และชำนาญทางจริง ๆ

         ๒.๒ ทหารทุกคน ควรจะต้องมีกำลังใจดี กล้าหาญ ไม่ท้อถอย

         ๒.๓ ผู้นำจะต้องมีจำนวนมากพอกับหน่วยที่จะปฏิบัติ

         ๒.๔ การติดต่อสื่อสาร ต้องปฏิบัติตามที่นัดหมายกันไว้อย่างชัดเจน

         ๒.๕ การเข้าล้อมจับข้าศึกส่วนหน้าโดยไม่ต้องทำการยิงจะเป็นผลดีต่อการจู่โจม สามารถเข้าถึงส่วนใหญ่ได้ง่าย

         ๒.๖ การเคลื่อนที่เข้าตีโดยอาศัยภูมิประเทศเป็นสิ่งปกปิด กำบัง สามารถเคลื่อนที่เข้าใกล้ข้าศึกได้ โดยไม่ต้องทำการยิงเลย

อาวุธ

       การรบในภูมิประเทศที่เป็นป่าและภูเขา อาวุธที่ใช้ได้ดีคือปืนกลเบาและปืนกลหนัก นอกจากนี้อาวุธที่ควรจะต้องมีคือ ลูกระเบิดยิงจากปืนเล็กและเครื่องยิงลูกระเบิด สำหรับปืนใหญ่จะใช้ได้ดีเฉพาะการเล็งตรง ส่วนการเล็งจำลองไม่อาจตรวจผลการยิงได้ชัดเจน

การติดต่อสื่อสาร

      ๑.การติดต่อสื่อสารด้วยพลนำสารได้ผลน้อยและช้า แต่ต้องเตรียมไว้เมื่อเครื่องมือสื่อสารขัดข้อง

      ๒.การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ใช้ได้ดีเมื่อสายไม่ขาดและชำรุด แต่ต้องวางสายคดเคี้ยวไปตามภูมิประเทศ ทำให้เปลืองสายมาก ไม่สะดวกในการรักษาและซ่อมสาย

     ๓.การติดต่อสื่อสารด้วยเครื่องทัศนะสัญญาณ เช่น โคมใช้ไม่ได้เลย เพราะภูมิประเทศเป็นป่าทั้งสิ้น

     ๔.การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ ในพื้นราบทำได้ดี ถ้าเป็นป่า ภูเขา ทำได้ลำบาก

     ๕.การให้สถานีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตามกองรบ ซึ่งเคลื่อนที่เข้าตีในภูมิประเทศเป็นป่าและมืด จะต้องทำการกรุยทางล่วงหน้า และเพิ่มคนวางสายให้มากพอที่จะช่วยค้ำสายให้พ้นอันตราย มิฉะนั้นสายจะขาดเป็นตอน ๆ

     ๖.การติดต่อระหว่าง บก.พล กับ กองรบ ถ้าใช้วิทยุประกอบไปด้วยจะสะดวกมาก