บทเรียนในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
 

      นับตั้งแต่รัฐบาลได้สั่งยุบเลิกทหารนาวิกโยธินทั้งหมด เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตรากำลังของทหารนาวิกโยธิน ใหม่หมด โดยให้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า “ กองป้องกันสถานีทหารเรือสัตหีบ” มีกำลังพลประมาณ ๑ กองพันเท่านั้น ตั้งอยู่ที่สัตหีบ บริเวณที่ตั้งของหน่วยทหารนาวิกโยธินเดิม มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานีทหารเรือสัตหีบ

      ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๖ สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร สหรัฐฯ ได้ส่งที่ปรึกษานาวิกโยธินสหรัฐฯ มาประจำอยู่ที่กองป้องกันสถานีทหารเรือสัตหีบ ในปีนี้เองกองทัพเรือได้ส่งนายทหารนาวิกโยธินไปศึกษาที่โรงเรียนนาวิกโยธินสหรัฐฯ เป็นจำนวนหลายนาย ต่อมากองทัพเรือได้มีการปรับปรุงแก้ไขอัตราของกองทัพเรือขึ้นใหม่ โดยในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้จัดตั้งกองป้องกันพิเศษขึ้นใหม่ในจังหวัดจันทบุรี มีกำลัง นย. ๑ กองร้อย ต่อมาได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น ๑ กองพัน เรียกว่า กองพันทหารนาวิกโยธินที่ ๒ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนจันทบุรี ในที่สุดทหารนาวิกโยธิน ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ ในวันที่ ๓๐ ก.ค.๙๘ โดย จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แลเห็นความสำคัญของหน่วยนาวิกโยธิน จึงได้จัดตั้งกรมนาวิกโยธินขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้ขอรับความช่วยเหลืออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ปรับปรุง แก้ไขอัตราการจัดต่าง ๆ เติบโตมาจนเป็นหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินในทุกวันนี้

      ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ กองทัพเรือได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งของ กอ.รส.ภน.ที่ ๒/๒๕๒๔ ลง ๒๖ ต.ค.๒๔ เรื่อง แต่งตั้ง จนท.ใน กอ.รส.ภน. และคำสั่ง ทร.(เฉพาะ) ที่ ๙๔/๒๕ ลง ๒ ก.พ.๒๕ เรื่อง ผอ.รส.ภน.เขต หมายเลขที่กำหนดให้ ผบ.เหล่าทัพ แม่ทัพภาค และ ผอ.รพน.มีอำนาจหน้าที่ในการรักษา ความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ ตลอดจนใช้กำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบกับได้ใช้แผนการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รสช.๑๑๘ ลง ๒๔ มิ.ย.๑๘ แผนการปราบปรามการก่อความไม่สงบและการจลาจล กระทรวงกลาโหม ลง ๒๗ มิ.ย.๑๘ และแผนการป้องกันและระงับการก่อวินาศกรรมที่ ๑/๒๑ เป็นหลักในการพิจารณากำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยที่จะดำเนินการ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นต้นมา อาจจะถือได้ว่าเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ความตื่นตัวทางการเมืองมีมากขึ้น มีการแสดงออกทางการเมืองเป็นกลุ่มหลายกลุ่มบางครั้งก็มีการประจันหน้ากันทำให้สถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงและตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งมีผลระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และการทหาร กลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อชาติได้มีการเคลื่อนไหว ปลุกระดมมวลชน ให้ก่อการไม่สงบเกิดขึ้นหลายครั้ง ทางรัฐบาลจึงได้มีการแก้ไขระเบียบ ตลอดจนการปฏิบัติในการรักษาความสงบขึ้นใหม่ โดยได้จัดตั้งกองกำลังรักษาพระนคร (กกล.รพน.) ขึ้น เมื่อ ๑๗ ส.ค.๒๔ โดยมี ผบ.ทบ.เป็นผู้อำนวยการรักษาพระนคร มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการและใช้กำลังทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ภายในเขต ๕ จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร ได้ตามความจำเป็น

กองกำลังรักษาพระนครได้กำหนดนโยบายไว้ ๕ ประการคือ

      ๑.เสริมสร้างความสงบสุข ความปลอดภัยในทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชน

     ๒.ฟื้นฟูและสถาปนาสภาวะทางเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความรุ่งเรือง เพื่อรัฐบาลจะได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชาติให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว

      ๓. กำจัดอิทธิพลและอำนาจเผด็จการ เพื่อประชาชน ให้มีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จิตวิทยา ภายใต้การปกครองตาม ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

      ๔.เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นและต้องพยายามขจัดปัญหาความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนให้หมดไป ตลอดจนยึดมั่นในการประสานผลประโยชน์ของคนในชาติ และเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทย

กองกำลังรักษาพระนคร ประกอบด้วย กองกำลังทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ กองกำลังตำรวจ และ ศูนย์ ทสปช.ภาค ๑ หรือกองกำลังพลเรือน

      * กองกำลังทหารบก มีแม่ทัพภาคที่ ๑ เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังทหารบก

      * กองกำลังทหารเรือ มีผู้บังคับการสถานีทหารเรือกรุงเทพ เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังทหารเรือ

      * กองกำลังทหารอากาศ มี ผู้บัญชาการกรมอากาศโยธิน เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังทหารอากาศ

      * กองกำลังตำรวจ มี รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษ เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจ

      * ศูนย์ ทสปช.ภาค ๑ มีแม่ทัพภาคที่ ๑ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ ทสปช.ภาค ๑ (กองกำลังพลเรือน)

       ภารกิจของกองกำลังรักษาพระนคร คือ รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ การจลาจลและกองโจรให้สงบราบคาบโดยเร็ว ป้องกันสถานที่สำคัญและอารักขาบุคคลสำคัญในเขต ๕ จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร

ในการปฏิบัติ กกล.รพน.ได้จัดทำแผนรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นเรียกว่า “ แผนไพรีพินาศ” แบ่งการปฏิบัติเป็น ๔ ขั้นตอน คือ

      ขั้น ๑ เตรียมการ เป็นการหาข่าว เตรียมกำลัง ปฏิบัติการจิตวิทยา

      ขั้น ๒ ขั้นการป้องกัน เมื่อเกิดความไม่สงบดำเนินการใช้กำลังฝ่ายเราสนับสนุนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการป้องกันการก่อความไม่สงบ

      ขั้น ๓ การปราบปราม เมื่อเหตุการณ์รุนแรงเกิดการจลาจล จึงใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามจากมาตรการเบาไปหาหนัก ให้กระทบกระเทือนประชาชนน้อยที่สุด

      ขั้น ๔ ขั้นการส่งมอบความรับผิดชอบ ให้ฝ่ายบ้านเมืองเมื่อภาวะสถานการณ์ปกติ

กกล.รพน.ได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น ๓ พื้นที่ ในส่วนของ กกล.ทร.รับผิดชอบพื้นที่

      * กทม.ด้านใต้ ตั้งแต่คลองรพะโขนงลงมา

      * ลำน้ำเจ้าพระยา และ กทม. ด้านฝั่งธนบุรี

      * จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร

      เพื่อให้การอำนวยการสั่งการ กำกับดูแล และประสานงานของหน่วยกำลังที่ จะต้องปฏิบัติในพื้นที่ ที่กองทัพเรือ รับผิดชอบ และเป็นไปตามคำสั่งและนโยบายของ กอ.รส.ภน. กองทัพเรือจึงได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติไว้ดังนี้

      ๑. หน่วยกำลัง กกล.ทร.ที่มอบให้กับ กอ.รพน.ปฏิบัติตามแผน กกล.รพน.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร จะขึ้นการควบคุมทางยุทธการของ กกล.รพน.ในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ สำหรับขั้นการปฏิบัติในขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ จะต้องได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือ

      ๒. กำลังส่วนที่เหลือของกองทัพเรือ จัดเป็นกำลังระวังป้องกันสถานที่และอารักบุคคลสำคัญของกองทัพเรือ ให้การสนับสนุนกำลังส่วนปฏิบัติการของกองทัพเรือ ในการปราบปรามการก่อความไม่สงบและกองโจร ตลอดจนเป็นกำลังหนุนของ ทร.และกอ.รส.ภน.ตามคำสั่ง ทร.

      ต่อมาโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๑๗๒/๒๕๒๑ ลง ๑๙ ต.ค.๒๑ แต่งตั้งให้ ผบ.ทหารสูงสุด เป็น ผู้อำนวยการ รักษา ความสงบภายในพื้นที่ (ผอ.รส.ภน.) มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลตามที่เห็นสมควร ในการนี้ ผอ.รส.ภน.จึงได้มีคำสั่ง กอ.รส.ภน. (เฉพาะ)ที่ ๑/๓๕ ลง ๑๕ เม.ย.๓๕ และที่ ๔/๓๕ ลง ๗ พ.ค.๓๕ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นใหม่มีสาระสำคัญดังนี้

กองทัพบก

       ผบ.ทบ.เป็น รอง ผอ.รส.ภน.และเป็น ผอ.รส.ภน.เขต ทบ.มีอำนาจสั่งการใช้กำลังทหาร และข้าราชการพลเรือน ในเขตรับผิดชอบ ทบ.(ยกเว้น อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี จว.ระยอง จว.จันทบุรี และ จว.ตราด) เป็น ผู้อำนวยการรักษาพระนคร (ผอ.รพน.) มีอำนาจดังกล่าวในเขตกรุงเทพมหานคร จว.สมุทรปราการ จว.นนทบุรี จว.ปทุมธานี และ จว.สมุทรสาคร

       แม่ทัพภาค เป็น ผอ.รส.ภน.เขตหมายเลข มีอำนาจดังกล่าวในเขตกองทัพภาค (ยกเว้น อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี จว.ระยอง จว.จันทบุรี และ จว.ตราด)

กองทัพเรือ

       ผบ.ทร.เป็น รอง ผอ.รส.ภน.และเป็น ผอ.รส.ภน.เขต ทร. มีอำนาจดังกล่าวในเขตรับผิดชอบของ ทร. และพื้นที่ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี จว.ระยอง จว.จันทบุรี และ จว.ตราด

กองทัพอากาศ

      ผบ.ทอ.เป็น รอง ผอ.รส.ภน. มีอำนาจสั่งการและควบคุมการใช้กำลังทางอากาศ หรืออากาศยานที่มีใช้ ในหน่วย ราชการและเอกชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

      ในส่วนของเหล่าทัพได้มีการจัดทำแผนรองรับ เพื่อปฏิบัติภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย ตามสายงาน กอ.รส.ภน.ที่สำคัญดังนี้

         กองทัพบก ผบ.ทบ.ในฐานะเป็นผอ.รพน.ได้จัดทำแผนไพรีพินาศเพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยการจัดตั้งกองกำลังรักษาพระนคร (กกล.รพน.) ซึ่งประกอบกำลังด้วย กกล.ทบ., กกล.ทร., กกล.ทอ., กกล.ตร. และ กกล.พร.

 

        กองทัพเรือ ได้จัดทำแผนรองรับเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ ทร.ได้แก่ แผนยุทธการ ผบ.ทร. (ลับมาก) ที่ ๑/๒๕๒๕ ลง ๑๓ ก.ค.๒๕ และระดับ กกล.ทร.ได้แก่ แผนพิฆาตไพริน (รองรับแผนไพรีพินาศของ กกล.รพน.)

        แผนยุทธการ ผบ.ทร. (ลับมาก) ที่ ๑/๒๕ เป็นแผนการใช้กำลังของ ทร. เพื่อปฏิบัติภารกิจในสายงาน กอ.รส.ภน.

         กกล.ทร. ให้ ฐท.กท. เป็นหน่วยหลักในการจัดประกอบกำลังจากหน่วย ทร.ต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เพื่อสนับสนุนกำลังให้กับ กกล.รพน.

         หน่วยของ ทร.ตามพื้นที่ต่างจังหวัดให้หน่วยต่าง ๆ ของ ทร.ที่อยู่ในพื้นที่กองทัพภาคสนับสนุนกำลังให้กับ กอ.รส.ภน.เขตหมายเลข

        แผนพิฆาตไพริน จัดทำขึ้นโดย ผบ.กกล.ทร./ผบ.ฐท.กท.เพื่อรองรับแผนไพรีพินาศของ กกล.รพน. เพื่อปฏิบัติ ภารกิจดังกล่าวในพื้นที่รับผิดชอบที่ได้รับมอบจาก กกล.รพน.คือ กรุงเทพด้านฝั่งธนบุรี จว.สมุทรสาคร และ จว.สมุทรปราการ

การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบของ กอ.รส.ภน. จะแบ่งการปฏิบัติเป็น ๔ ขั้นตอนคือ

        ขั้นที่ ๑ ขั้นเตรียมการ

        ขั้นที่ ๒ ขั้นการป้องกัน

        ขั้นที่ ๓ ขั้นการปราบปราม

        ขั้นที่ ๔ ขั้นการฟื้นฟูและส่งมอบ

ในขั้นที่ ๑ ให้ปฏิบัติตั้งแต่เวลาปกติ ส่วนขั้นที่ ๒-๔ จะปฏิบัติได้เมื่อสั่ง สำหรับ กกล.ทร. จะมีการประกอบ กำลัง ตามขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

ขั้นที่ ๑ (ขั้นเตรียมการ) และขั้นที่ ๒ (ขั้นการป้องกัน) ประกอบด้วย

        ๑ กองร้อย รปภ.สน.กท.(-)

        ๑ กองร้อย สห.นย.(-)

        ๑ กองร้อย รปภ.สพ.นย.(-)

        หมู่เรือตรวจการณ์ลำน้ำ กกล.กร.(๒ ลำ)

ขั้นที่ ๓ (ขั้นการปราบปราม) ประกอบด้วย

        ๔ กองร้อย รปภ.สน.กท.(-)

        ๒ กองร้อย รปภ.สพ.ทร.(-)

        ๑ กองพัน สห.นย.(-)

        หมู่เรือตรวจการณ์ลำน้ำ กลน.กร. (๕ ลำ)

        ต่อมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมประท้วงในเขต กทม. เมื่อ พ.ค.๓๕ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๔๑/๒๕๓๕ ลง ๙ ก.ค.๓๕ ให้ยกเลิกการแต่งตั้ง ผบ.ทหารสูงสุด เป็น ผอ.รส.ภน. เนื่องจากสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศได้มอบให้เจ้าหน้าที่ ตามปกติเป็นผู้ดำเนินการ ในที่สุดได้มี พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ผอ.รส.ภน.พ.ศ.๒๕๑๙ พ.ศ.๒๕๓๖ ตามมา ดังนั้น ผบ.ทหารสูงสุด จึงมีคำสั่ง กอ.รส.ภน.(เฉพาะ) ที่ ๖/๒๕๓๕ ลง ๙ ก.ค.๓๕ ให้ยกเลิกการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ กอ.รส.ภน.และหน่วยงาน ทร.จึงได้ยกเลิกแผนยุทธการที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๒
เพื่อให้สอดคล้องกับ กอ.รส.ภน.ดังกล่าว

        ปัจจุบันการใช้กำลังทหารในภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศนั้น ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย รองรับ โดยตรงแต่จะสามารถกระทำได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากครม.ในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเฉพาะกรณีจำเป็น โดยทหารจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในส่วนของ ทร.นั้น ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ได้ยกเลิกแผน ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดังกล่าวแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่ได้เคยปฏิบัติหน้าที่ได้แก่ กรม สห.ทร. และ กอง รปภ. ของฐานทัพเรือต่าง ๆ ยังมีสิ่งอุปกรณ์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ เช่น หน้ากากป้องกันแก๊ส กระบอง แก๊สน้ำตา เป็นต้น หน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าว ก็ได้ทำการฝึกกำลังพลให้มีความรู้ความสามารถในการใช้สิ่งอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นประจำ ดังนั้น จึงมีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจเมื่อได้รับคำสั่งตลอดเวลา ซึ่งโดย เฉพาะการรักษา ความสงบ เรียบร้อย ในพื้นที่ กรุงเทพฯ นั้น บก.ทหารสูงสุด ให้เหล่าทัพเตรียมกองพันปฏิบัติการ รักษาความสงบเรียบร้อย จำนวน ๕ กองพัน (ทบ.๓ ทร.๑ ทอ.๑) โดยในการจัดกองพันฯ ของ ทร. จะประกอบกำลังจาก กรม สห.ทร., กอง รปภ.ฐท.กท. และหน่วยที่เกี่ยว ข้องอื่น ๆ โดย กรม สห.ทร.เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลัง มีกำลังพลรวมทั้งสิ้น ๖๙๓ นาย (น.๓๐ ป.๑๙๙ พลฯ ๔๖๔) สำหรับแผนและแนวทางการปฏิบัตินั้น ปัจจุบัน บก.ทหารสูงสุด ยังไม่ได้จัดทำแผนเพื่อดำเนินการ ดังนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์ ก่อความไม่สงบเกิดขึ้น ยังคงใช้แนวทางการปฏิบัติตามแผนไพรีพินาศ ของ กกล.รพน.เดิม คือ ปฏิบัติตามขั้นตอน ๔ ขั้น โดยในส่วนของ ทร.รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพด้านฝั่งธนบุรี จว.สมุทรปราการ และ จว.สมุทรสาคร

        ดังนั้น การปฏิบัติของทหารนาวิกโยธินในบทบาทของการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงจำต้องปฏิบัติ ตามแผนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เหตุการณ์ที่ทหารนาวิกโยธิน ต้องปฏิบัติให้เกิดความสงบเรียบร้อย นั้นมีเหตุการณ์ ที่ควรกล่าวถึงตามรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปนี้

 
กรณีเหตุการณ์การก่อไม่สงบ เมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ เรียกว่า “ วันมหาวิปโยค”
 

๑. กล่าวนำ

       นับตั้งแต่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้ามีอำนาจในการบริหารประเทศ จัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นต้นมา การปกครองได้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย เป็นการปกครองในรูปแบบรัฐบาลเผด็จการ เป็นการพัฒนา เศรษฐกิจ โดยรัฐบาลพยายามยกระดับ ความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทำให้ประเทศมีความมั่งคง จากการพัฒนา เศรษฐกิจ ของรัฐบาลทำให้เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นในสังคม ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจผู้ลงทุนอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มปัญญาชน จากนโยบายการพัฒนาประเทศนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ระบบการเมืองได้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเกษตร ไปเป็นระบบอุตสาหกรรมและพืชเกษตร ตลอดจนเกิด การขยายตัว ของสังคมเมือง เกิดระบบอุปถัมภ์การสืบทอดอำนาจ สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน แต่เมื่อปกครองนาน เข้า การฉ้อราษฎร์บังหลวงจากกลุ่มรัฐบาลก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดการต่อต้าน มีการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๘ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่กรรม จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี สืบต่อมา กลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตย ให้จัดการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลยังคงปกครองแบบเผด็จการต่อไป ได้มีความพยายามเรียกร้อง ให้มีการปกครอง ในระบอบที่นา นาประเทศยอมรับ แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันและเชื่อมั่นว่าระบบเผด็จการนี้จะปราบปรามป้องกันจากลัทธิคอมมิวนิสต์ได้

๒. สถานการณ์

       ๒.๑ สถานการณ์ทั่วไป

       จากเสียงเรียกร้องของประชาชน นิสิต นักศึกษา มีมากขึ้น ประกอบกับการไม่ยอมรับของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสมัย จอมพล ถนอม ฯ ก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง และอนุญาตให้ นิสิต นักศึกษา เข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๒ กลุ่มนิสิต นักศึกษา จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์กลางนิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทยขึ้น โดยมี นายธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขนุการ ต่อมาภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จอมพล ถนอมฯ ยังคงดำเนินการปกครองประเทศต่อไป ได้มีขบวนการต่อต้านคัดค้านการดำเนินงานต่าง ๆ จากกลุ่มอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มนิสิต นักศึกษา จอมพล ถนอมฯ จึงได้ทำการ ปฏิวัติตนเอง เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ เป็นผลทำให้รัฐธรรมนูญที่ร่างมา ๘ ปีเศษ ต้องสิ้นสุด พร้อมกับสถาบันอื่น ๆ อาทิ พรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จอมพล ถนอมฯ ได้กลับเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินตามแบบ จอมพล สฤษดิ์ อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ประชาชนไม่พอใจการบริหารประเทศ มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีการแบ่งแยก และ ก้าวก่ายในการปฏิบัติงาน ทำให้อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และศูนย์นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วย และมีการเรียกร้องให้ขับไล่รัฐบาลออกไป จัดให้มีการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

       ๒.๒ สถานการณ์เฉพาะ

       เมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ปฏิวัติตนเอง เมื่อ ๑๔ เมษายน ๒๕๑๔ และได้จัดตั้งรัฐบาล ตั้งตนเองเป็น นายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา ไม่เห็นด้วย ได้มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓ ท่าน คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ฟ้องต่อศาลว่า จอมพลถนอมฯ เป็นกบฏต่อแผ่นดิน รัฐบาลจึงได้ทำการจับกุมบุคคลทั้งสามในฐานะ ยุยงให้ ส่วนรวมแตกความสามัคคี โดยใช้อำนาจเผด็จการสั่งจำคุกบุคคลทั้งสาม เมื่อ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๕ ศูนย์นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย และประชาชน ไม่เห็นด้วยได้เดินขบวนเรียกร้อง ให้รัฐบาลปล่อยบุคคลทั้งสาม เหตุการณ์ได้เกิดการประท้วงขึ้นมาอีกเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ กลุ่มอาจารย์ นิสิต นักศึกษา ประมาณ ๑๓ คน ได้ทำการแจกใบปลิวชักชวนเรียกร้องให้ประชาชนไปฟังคำปราศรัยเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะมีการอภิปรายกันในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ลานโพธิ์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้า จับกุมบุคคลทั้ง ๑๓ คนไว้ในขณะแจกใบปลิว นำไปคุมขังที่สถานีตำรวจ ศูนย์นิสิต นักศึกษา ได้มีมติรัฐบาล ปล่อย ผู้ต้องหาทั้งหมด แต่รัฐบาลเฉยเมย นิสิต นักศึกษา จึงได้มีการอภิปรายโจมตีรัฐบาลในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นต้นมา นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้ทยอยกันมาที่ลานโพธิ์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าฟัง การอภิปราย โจมตีรัฐบาล เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหา ตลอดจนเรียกร้องให้ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

       ในที่สุดรัฐบาลยินยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง ๑๓ คน โดยให้ประกันตัวออกมา แต่ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษา ไม่ยอม ให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะเดียวกันนักศึกษาอาชีวะทุกแห่งในประเทศไทย หยุดการเรียน และเดินทาง มาร่วมชุมนุมกันด้วย นับตั้งแต่วันที่ ๙-๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ คน เข้าร่วมประท้วงรัฐบาล ประกอบกับนิสิต นักศึกษา ประชาชน ต่อมาในเช้าวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผู้เข้าประท้วงจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ คน ได้ทยอยแยกกันออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปรวมพลที่สนามหลวงแล้วเคลื่อนย้ายไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สมทบกับประชาชนที่ออกมาจากพระบรมรูปทรงม้า ประชาชนจำนวนนับแสนคนได้เดินทางเต็มไปหมดบนถนนราชดำเนิน เหตุการณ์เริ่มสับสน รัฐบาลได้ประกาศ กฎอัยการศึกห้ามชุมนุมและออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา ๐๓๐๐-๐๖๐๐ ในระหว่างตอนบ่ายของวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนถึงเช้าตรู่ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ รัฐบาลได้เจรจา ต่อรอง กับคณะกรรมการของศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี นางสาวเสาวนีย์ ลิ่มเจริญวงศ์ ให้สลายมวลชน แต่ประกอบกับความสับสนและไม่เข้าใจกันบางประการ ในระหว่างกลุ่มผู้นำ ความตึงเครียดจึงได้เกิดขึ้น การควบคุมกลุ่มชนให้อยู่ในระเบียบไม่สามารถกระทำได้ กำลังประชาชนบางส่วน เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ และกรมสรรพากรไว้ได้ เมื่อ ๑๔๐๙๐๐ ต.ค.๒๕๑๖ ระหว่างนั้นได้มี ฮ.ของทางราชการบินวนและมีเสียงปืนกล กราดลง มาจาก ฮ. ทำให้กลุ่มชนโกรธแค้นและเข้าต่อสู้กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ การปะทะก็เกิดขึ้น มีการใช้อาวุธ กลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน ตรงเข้าแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบกเมื่อเวลา ๑๐๓๐ ได้มีการปะทะกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กับนิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่ยึดกรมประชาสัมพันธ์และกรมสรรพากร รถถังเคลื่อนที่เข้า สลายฝูงชน และมุ่งตรงไปยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนิสิต นักศึกษา ประชาชน ยึดอยู่ ในขณะเดียวกัน ที่หน้ากรม ประชาสัมพันธ์ก็เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างนิสิต นักศึกษา ประชาชน กับเจ้าหน้าที่ มีการใช้อาวุธปราบปราม ประชาชน นักศึกษาอาชีวะจำนวนหนึ่งเสียชีวิต ในขณะที่นำขบวนเดินทางไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้มีความ พยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการปฏิบัติ ต่อมาใน ๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชชนนี ได้ออกมาขอร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำแต่ไม่เป็นผล ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ออกโทรทัศน์รับ สั่งให้ทุกฝ่ายกลับสู่ความสงบหยุดยั้งการฆ่ากันเอง ในวันนี้เอง จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจาก ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แต่ศูนย์นิสิต นักศึกษา และประชาชน ก็ประท้วงต่อไปโดยเรียกร้องให้นำ จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร พันเอก ณรงค์ กิตติขจร มาลงโทษในฐานะสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทำร้ายประชาชน

       ต่อมาในเย็นวันนั้นเองบุคคลทั้งสามยินยอมที่จะเดินทางออกนอกประเทศ ประชาชนที่ประท้วงจึงยุติการชุมนุม เมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อมา

๓. คำสั่งของ ทร.ให้ นย.จัดกำลังไปปฏิบัติราชการ

      - คำสั่ง ทร.ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๒๒๙/๒๕๒๖ ลง ๑๑ ต.ค.๒๕๑๖ เรื่อง การเตรียมรับ สถานการณ์

     - คำสั่ง ทร.ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๒๓๒/๒๕๒๖ ลง ๑๑ ต.ค.๒๕๑๖ เรื่อง การเตรียมพร้อม

     - คำสั่ง สน.กท.ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๔๔/๒๕๑๖ ลง ๑๑ ต.ค.๒๕๑๖ เรื่อง การเตรียมพร้อมขั้น ๒

๔. การจัดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์

     กำลังพล

      - บก.สน.กท.

      - พันสารวัตร นย. น.อ.อุดมศักดิ์ ราชรัตนารักษ์ กำลังพล ๒๐๒ นาย

      - พัน.ร.๖ นย.(-) น.ท.ธัชพงษ์ วิวัฒกุล กำลังพล ๑๒๔ นาย

       - พัน.ร.๗ ผส.นย.(-) น.ท.นคร พิบูลสวัสดิ์ กำลังพล ๒๘๔ นาย

      อาวุธยุทโธปกรณ์

      - พัน.สห.นย.

       ปสบ.๘๗ จำนวน ๑๕๗ กระบอก

       ปลยบ.๘๘ จำนวน ๔๓ กระบอก

       ปกม. M.3 จำนวน ๑๐ กระบอก

     - พัน.ร.๖

      ปพ. จำนวน ๑๓ กระบอก

      ปสบ.๘๗ จำนวน ๑๘ กระบอก

      ปลยบ.๘๘ จำนวน ๑๐๒ กระบอก

      ปลก.๘๘ จำนวน ๑๒ กระบอก

    - พัน.ร.๗ ผส.นย.

     ปพ.๘๖ จำนวน ๑๒ กระบอก

     ปลยบ.๘๘ จำนวน ๒๗๒ กระบอก

     ปกบ. M.3 จำนวน ๖ กระบอก

     เครื่องรับส่งวิทยุ

     - วิทยุรับ-ส่ง Handy & Talky ระบบ FM จำนวน ๖ เครื่อง

     - วิทยุกระจายเสียงระบบ FM จำนวน ๖ เครื่อง

     - วิทยุรับ-ส่ง Handy & Talky ระบบ Single Band จำนวน ๔ เครื่อง

     ยานพาหนะ

     - รถบรรทุก ขส.ทร. จำนวน ๕ คัน

     - รถ M. ๑๕๑ จำนวน ๓ คัน

     - รถ M. ๒ ๑/๒ ตัน จำนวน ๖ คัน

     - ร.ล.อาดัง

     - ร.ล.ตะลิบง

     - เรือ ต.๒๗

๕. ภารกิจ

     สถานีทหารเรือกรุงเทพ กองทัพเรือ รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ส่งกำลังเข้าแย่งยึดสถานที่ ให้รอดพ้นจากการยึดครองและทำลาย จากฝ่ายตรงข้าม

๖. การปฏิบัติ

      ๖.๑ ตั้งแต่ ๑๓๑๑๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถึง ๑๕๑๙๔๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ กำลังของกรมนาวิกโยธินที่ ขึ้นไปสมทบกับ สถานีทหารเรือกรุงเทพ ทำการระวังป้องกันสถานที่ของกองทัพเรือมีดังนี้ กรมสวัสดิการทหารเรือ กรมอู่ทหารเรือ สถานีวิทยุกรมสื่อสารทหารเรือ

       ๖.๒ เมื่อ ๑๔๐๙๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ พัน.สห.นย. และ พัน.ร.๖ นย. ส่งกำลังออกไปทำการยึดและรักษากรมประชา สัมพันธ์ กรมสรรพากรและกรมธนารักษ์ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อ ๑๘๑๒๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖

            ๖.๒.๑ พัน.สห.นย.

                   - ตั้งแต่ ๑๓๐๘๐๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ เคลื่อนย้ายกองร้อยปราบปรามจลาจลไปเข้าที่ รวมพลที่กรมสวัสดิการทหารเรือ

                   - ตั้งแต่ ๑๔๐๘๐๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ ส่งกำลัง ๑ หมู่ ไปรักษาการณ์ที่กรมสวัสดิการทหารเรือ

                   - เมื่อ ๑๔๐๙๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ ส่งกองร้อยปราบจลาจลในความควบคุมของ น.อ.อุดมศักดิ์ ราชรัตนารักษ์ ผบ.พัน.สห.นย.เข้าไปแย่งยึดและรักษากรมประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติการครั้งนี้ พัน.สห.นย.ปฏิบัติการด้วยความนิ่มนวล มีมนุษยสัมพันธ์ไม่มีการใช้อาวุธ

                  - เมื่อ ๑๔๑๐๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในความควบคุมของ ร.อ.ทิม ดวงจันทร์ นำกำลัง สห.นย.๑ หมู่ คุ้มกันรถบรรทุก ๑ คัน ไปเบิกกระสุนที่ สพ.ทร.

                  - เมื่อ ๑๔๑๖๓๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ จัดกำลัง ๒ มว. กองร้อยปราบปรามจลาจลในความควบคุมของ ร.อ.วิริยะ สุขสวัสดิ์ชล ทำการแย่งยึดรักษากรมธนารักษ์

                  - เมื่อ ๑๔๑๗๐๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ เคลื่อนย้ายกำลังสารวัตร ๑ หมวด ในความควบคุมของ ร.ท.นิคม คมสาคร ไปเพิ่มเติมกำลังที่ยึดรักษา กรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร และกรมธนารักษ์

            ๖.๒.๒ พัน.ร.๖ นย.

                   - ตั้งแต่ ๑๔๐๘๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในความควบคุมของ ร.ท.จรัล เสมดี นำกำลังกองร้อยปราบปรามจลาจล ไปเป็น กองหนุนเพิ่มเติมที่กรมสวัสดิการทหารเรือ เพื่อเตรียมปฏิบัติการต่อไป

                  - จัดกำลัง ๑ หมวด กองร้อยปราบปรามจลาจล ในความควบคุมของ ร.ท.เกรียงศักดิ์ เจนจบ ยึดรักษากรมประชา สัมพันธ์ เมื่อ ๑๔๑๒๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๖

             ๖.๒.๓ พัน.ร.๗ ผส.นย. เตรียมย้ายกำลังพล ๒ กองร้อย ภายใต้การบังคับบัญชาของ น.ท.นคร พิบูลย์สวัสดิ์ โดยทาง เรือ (ร.ล.อาดัง, ร.ล.ตะลิบง,เรือ ต.๒๗) จากสัตหีบ มารวมพลที่ พัน.ร.๖ นย.ขึ้นสมทบกับสถานีทหารเรือกรุงเทพ เป็นกองหนุน เมื่อ ๑๕๑๘๔๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ สนับสนุนการปฏิบัติของ พัน.ร.๖ นย. และเดินทางกลับที่ตั้งปกติ จังหวัดระยองใน ๑๖๑๓๐๐ ตุลาคม ๒๕๑๖

๗. ผลการปฏิบัติ

        ได้ผลสมตามความมุ่งหมายของทางราชการ กองทัพเรือได้ปฏิบัติการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยใช้ความนุ่มนวล มีมนุษยสัมพันธ์ การดำเนินการต่าง ๆ ได้บรรลุความสำเร็จจนเป็นผลดีแก่กองทัพเรือ และได้รับการกล่าวขวัญว่า “ ทหารเรือคือ มิตรของประชาชน”

๘. การสูญเสีย

        ไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด เครื่อง-ส่งวิทยุเสียหายเล็กน้อย

๙. บทเรียนจากการปฏิวัติ

        ๙.๑ มีการจัดตั้งอย่างมีระบบ แบบแผนในการปลุกระดม เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการเตรียมการในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

        ๙.๒ เจ้าหน้าที่ของรัฐปราบปรามรุนแรงเกินไป โหดร้าย เช่น การใช้ ฮ.บิน กราดกระสุนใส่กลุ่มประท้วง

        ๙.๓ หน่วยปราบปรามจลาจลมีเครื่องมือไม่พร้อม เช่น ไม่มีกระสุนด้าน กระสุนยาง หน้ากากป้องกันไอพิษ

        ๙.๔ กลุ่มชนที่ประท้วงเป็นคนไทยด้วยกัน ควรใช้ความเมตตาปราณีต่อกันเพราะผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา

        ๙.๕ การข่าวของฝ่ายรัฐบาลล่าช้า และไม่ตรงต่อความเป็นจริง

        ๙.๖ จากการปฏิบัติการอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้ นิสิต นักศึกษา เกิดความตื่นตระหนก ตกใจ หลบหนี เข้าป่าไปเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก

        ๙.๗ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเรือเป็นผลดียิ่งเพราะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างนุ่มนวลใช้การเจรจาชี้แจงความ เข้าใจ ทำให้มวลชนอบอุ่นและยินยอม ปฏิบัติตาม

        ๙.๘ ในการปราบปรามจลาจลหน่วยควรได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และควรได้จัดหาเครื่องมือต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เช่น กระบองไฟฟ้า โล่ป้องกันการขว้างปา หน้ากากป้องกันไอพิษ รถพ่นควันขับไล่ฝูงชน กระสุนยาง

        ๙.๙ ผู้นำมวลชนไม่มีความรู้ความสามารถในการควบคุมฝูงชนได้อย่างเด็ดขาด

       ๙.๑๐ การปฏิบัติควรใช้ปฏิบัติการจิตวิทยา การประชาสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการปะทะและใช้อาวุธเป็นดีที่สุด

 
กรณีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ เมื่อ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๘ “ การนัดหยุดงานของยามรักษาการณ์”
 

๑. กล่าวนำ

       นับตั้งแต่เวียดนามใต้ และเขมรต้องประสบกับความพ่ายแพ้ต่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ทำให้สถานการณ์ทางการ เมืองในประเทศลาวต้องเปลี่ยนแปลง ไปอยู่ในอิทธิพลของฝ่ายขบวนการประเทศลาวโดยฉับพลัน อิทธิพลทางกำลัง อำนาจของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้ลดลงตามลำดับ เป็นเหตุให้อิทธิพล ทางกำลังอำนาจของ จีนคอมมิวนิสต์-เวียดนามเหนือ และฝ่ายโซเวียตรัสเซีย เพิ่มอิทธิพลภายในประเทศมากยิ่งขึ้นทั้งทางลับ และทาง เปิดเผยทำให้คอมมิวนิสต์ ในประเทศไทยมองเห็นความสำเร็จในแนวทางปฏิวัติของตนแจ่มใสยิ่งขึ้นประชาชน และองค์กรทั่วไปมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ดังกล่าว แบ่งแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายที่เห็นว่าควร ยอมรับ อิทธิพลของคอมมิวนิสต์และฝ่ายที่เห็นว่าควรจะต่อต้านอย่างเด็ดเดี่ยว

       พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยังคงดำเนินการเพื่อการปฏิวัติเป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีนตามแนวทาง ผกค.ด้วยสงครามประชาชนจากชนบทสู่ตัวเมืองอยู่ต่อไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในชนบท และเพื่อผลประโยชน์ในการประสานให้การปฏิวัติตามแนวทางดังกล่าว ได้ผลดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ได้ทำการ สนับสนุนและชี้นำกลุ่มบุคคลให้ทำการก่อการจลาจลขึ้นในกรุงเทพมหานคร และสนับสนุน แต่เพียงในฐานะ แนวร่วม เท่านั้น มิได้จัดตั้งอยู่ใน พคท.แต่อย่างใด

       เวียดนามเหนือ แต่เดิมให้การสนับสนุนแก่ พคท.ทางด้านการฝึกสอน ผกค.ในระดับคณะกรรมการอำเภอและแกนบ้าน ปัจจุบันได้ก่อตั้งแนวร่วมอินโดจีนขึ้น อันประกอบด้วย เขมร ลาว เวียดนาม และ ผกค.ไทย เพื่อมุ่งหมายเป็นดุล อำนาจทางภาคใต้ของ จคม.ด้วยการสนับสนุนจากโซเวียตรัสเซีย ซึ่งในอนาคตจะเป็นหน่วยนำทางการเมืองของ ผกค.แทน พคท.ซึ่งอยู่ในประเทศ จคม.ปัจจุบันก็ได้ตั้งหน่วยกำลังทหารเพื่อชี้นำการทำสงครามในประเทศของ ผกค.แล้ว เรียกว่า กองพลสากล อันประกอบกำลังด้วย เวียดนามเหนือ ลาว และ ผกค.ไทย

๒. สถานการณ์

     ๒.๑ สถานการณ์ทั่วไป

          นับตั้งแต่ ๑๔ ต.ค.๑๖ เป็นต้นมา นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ชาวนา ชาวไร่ และกรรมกร มีการตื่นตัว ทางการเมืองเป็นพื้นฐาน เกิดความนิยม ในการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ กันโดยทั่วไปเป็น จำนวนมาก

          ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลมีนโยบายในการเผยแพร่ประชาธิปไตยออกสู่ชนบททั่วไปทุกจังหวัด อันเป็นโอกาสให้ กลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งหวังเปลี่ยนแปลง ในทางสังคมได้สอดแทรกนโยบายการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคมเข้าไปในอุดมการณ์ของนิสิต นักศึกษา ผู้ออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยนั้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการ จึงเป็นเหตุให้เกิดการขัดแย้งขึ้น ทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วถือ โอกาสนำกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองในกรุงเทพฯ เพื่อมาสานงานกัน พร้อมทั้งปลุกระดม ให้ลึกซึ้ง ในอุดมการณ์สังคมนิยมยิ่งขึ้น แล้วจัดตั้งหัวหน้าจังหวัดต่าง ๆ เป็นกลุ่มชาวนา ชาวไร่ และสหพันธ์แรงงาน ร่วมกับกลุ่มกรรมกรในกรุงเทพฯ ขึ้น การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้กระทำเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันตลอดมา ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวการเดินขบวน ยื่นข้อเสนอที่ไม่อาจจะเป็นไปได้ต่อรัฐบาลตามที่ทราบกันอยู่โดยทั่วแล้วนั้น

       ๒.๒ สถานการณ์เฉพาะ

            นับตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.๑๗ เป็นต้นมา มีกลุ่มบุคคล องค์กร ได้เข้ายุยงให้ยามรักษาการณ์ตามที่ต่าง ๆ ว่าทาง บก.ทหารสูงสุด จ่ายเงินค่าจ้างยามไม่ยุติธรรม จึงนัดกันว่าจะหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิค่าจ้าง และได้เริ่ม มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ ๑ มิ.ย.๑๘ ในลักษณะที่จะหยุดงาน หรือก่อความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นใน กรม รก.ที่ พัน.รก.๓ สัตหีบ และนัดหมายกันเดินทางเข้ามาที่ บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้าใน ๕ มิ.ย.๑๘ เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ

            ต่อมาเมื่อ ๔ มิ.ย.๑๘ บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้าได้รายงานสถานการณ์ของยามให้ ผบ.ทหารสูงสุดทราบ ซึ่ง บก.ทหารสูงสุด ได้พิจารณาอนุมัติหลักการเพื่อยึด เป็นแนวทางปฏิบัติต่อยาม

             ต่อมา ๕ และ ๖ มิ.ย.๑๘ ได้มีการแจกจ่ายใบปลิวรวม ๓ ฉบับ ซึ่งเรียกว่าแถลงการณ์ของยาม รก. ฉบับที่ ๑,๒ และ ๓ โดยมีการแจกจ่ายจำนวนมากที่ พัน.รก.๓ สัตหีบ ส่วน ณ ที่ตั้งอื่นของหน่วยอื่น ๆ ของ กรม รก.ก็ได้มีการแจกจ่าย ใบปลิวเหล่านั้นเช่นกัน สรุปสาระในใบปลิวทั้ง ๓ ฉบับได้ดังนี้

                  ๑. ตามที่ยาม รก. ได้นัดหยุดงาน เรียกร้อง ผลประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อ ๑๘ มี.ค.๑๗ และ ๑๐ ธ.ค.๑๗ ไม่ปรากฏมี การตกลงกันอย่างไร แต่คณะนายทหาร ใน กรม รก.และ บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้าได้ต่อต้านขัดขวางอย่างผิด กฎหมายและหลักการทั้งได้ใช้ชั้นเชิงข่มขู่ให้ยาม รก.สลายตัวจากการชุมนุม รวมทั้งบุกสังหารบุคคลสำคัญใน ขบวนการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

                  ๒.จากบทเรียนของการต่อสู้ที่ล้มเหลวไปจึงได้ตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นในกรุงเทพฯเพื่อให้เพื่อนร่วมอาชีพได้รับการสนับสนุน จากแนวร่วม ฯ

                  ๓. ศูนย์การบริหารงานขอให้ยาม รก.ส่งข้อคิดเห็นหรือการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรไปให้ศูนย์ฯ รายงานเพื่อ ยื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ได้มีศูนย์กลางนิสิต นักศึกษา ให้ความช่วยเหลือสนับสนุน

                  ๔. ในใบปลิวได้มีการกล่าวอ้างการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน จากสหภาพแรงงานประมาณ ๖๕ กลุ่ม ผนึกกำลังกันต่อสู้ เรียกร้องสิทธิและคุ้มครองจากรัฐบาล อันสืบเนื่องจากกรณีคนงานโรงแรมดุสิตธานี และบริษัทสแตนดาร์ดการ์เมนท์ นัดหยุดงานด้วย

       ต่อมาใน ๙ มิ.ย.๑๘ บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้าได้ประชุม ผบ.กรม รก.พร้อมด้วย ผบ.พัน.รก.ทั้ง ๔ กองพัน และผู้แทน ศรภ.เพื่อพิจารณาสถานการณ์ใน กรม รก. ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

        ๑. การเคลื่อนไหวของยาม รก.ครั้งนี้ นาย บัณกิจ ทองด้วน ยาม รก. ซึ่ง บก.ทหารสูงสุด ได้เลิกจ้างไปแล้ว เนื่องจาก ขาดราชการ เป็นตัวการยุยง และมี ส.อ.อวงคำ คำวัน (ยาม รก.ซึ่ง บก.ทหารสูงสุด ได้เลิกจ้างไปแล้ว เนื่องจากขาด ราชการเช่นกัน) เป็นผู้ดำเนินงานมียาม รก.ที่ยังสังกัดอยู่ใน กรม รก. ผู้เป็นสมัครพรรคพวก เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นยาม รก.

       ๒. การเคลื่อนไหวของยาม รก.นี้ มีนักการเมืองพรรคสังคมนิยมเป็นผู้ชี้นำและสนับสนุนจากนาย สุเชาว์ ทิพย์เนตร นักศึกษามหาวิทยาลัยประสานมิตร และ นาย พินิจ จารุสมบัติ รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองศูนย์กลางนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

       ๓. เมื่อเริ่มการเคลื่อนไหว ยามเหล่านี้จะตั้งประเด็นเรียกร้อง อ้างว่าทางราชการ บก.ทหารสูงสุด ได้รับเงินค่าจ้างยาม จากฝ่ายสหรัฐฯ เต็มอัตราชั้นสูงสุดของยามทุกคน แต่ บก.ทหารสูงสุด ได้ยักยอกเสียส่วนหนึ่ง แล้วมาจ่ายลดหลั่น เป็นชั้นอัตราเงินเดือนยาม รก.จึงจะเรียกร้องขอเงินที่เข้าใจว่า บก.ทหารสูงสุด ยักยอกว่าให้จ่ายให้แก่ยาม รก.ให้ครบ

       ต่อมาได้ทราบว่าบรรดาผู้นำยาม รก.ที่มีการเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้พิจารณาเห็นว่าประเด็นที่จะเรียกร้องข้างต้นไม่สู้ เหมาะสม ทั้งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าทาง บก.ทหารสูงสุด ได้ดำเนินการไปเช่นนั้นจริง จึงเปลี่ยนประเด็น ที่เรียกร้อง เสียใหม่ เป็น ๓ ประการคือ

            ๑. ให้ บก.ทหารสูงสุด จ่ายเงินโบนัสแก่ยาม รก.

            ๒. ให้ทางราชการออกเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ยาม รก.ในการเจ็บป่วยทุกกรณี

            ๓. ให้ทางราชการออกเงินค่าเล่าเรียนบุตรแก่ยาม รก.

        เมื่อพิจารณาจากใบปลิวแถลงการณ์ทั้ง ๓ ฉบับแล้ว ก็ไม่อาจพิจารณาได้ว่าประเด็นที่แท้จริงที่ยาม รก.เรียกร้อง จะมีอะไรบ้าง มีแต่ประโยชน์จากยาม รก.คือ

             ๑. ในปัจจุบันอาศัยประโยชน์จากยาม รก.สร้างปัญหายุ่งยากให้แก่ทางราชการและรัฐบาลพร้อมกันนั้น ก็พยายามสร้าง แกนนำขึ้นในหมู่ยาม รก.

             ๒. อาจมีชักการชักจูงยาม รก.เข้าร่วมในการดำเนินการขับไล่ฐานทัพสหรัฐฯ ใน ๔ ก.ค.๑๘ นี้ก็ได้

             ๓. ในอนาคตเมื่อยุบเลิกโครงการยาม รก.เนื่องจากกำลังทหารสหรัฐฯ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปหมดแล้ว ก็อาจใช้ยาม รก.เข้าร่วมในกองกำลังติดอาวุธต่อไป

        เมื่อ ๗–๘ มิ.ย.๑๘ได้ปรากฏว่ายามรก.บางหน่วยได้ขาดหายไปจำนวนมากบางกองร้อยจำนวนที่ขาดหายไปประมาณ ๑๐๐ นาย ซึ่งมิใช่เป็นการนัดหยุดงาน คาดว่ายาม รก.ที่ขาดหายไปอาจจะเดินทางเข้ามา กทม.ที่ประชุมมีความเห็นว่า จะต้องดำเนินการหาทางระงับการดำเนินการของกลุ่มยาม รก.เหล่านี้โดย

            ๑. ให้ กรม รก.ชี้แจงให้ยาม รก.ทั้งปวงได้ทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ

            ๒. ให้ กรม รก.พิมพ์เอกสารคู่มือยาม สรุปสัญญาว่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แจกจ่ายแก่ยาม,ครอบครัว และหน่วยต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

            ๓. ให้หาทางชี้แจงสื่อมวลชนได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิและผลประโยชน์ทางราชการได้ให้แก่ยาม รก.

            ๔. ขอร้องให้ระงับการออกข่าวในลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบ

            ๕. หากปรากฏว่ายาม รก.ผู้ใดขาดราชการเข้าข่ายจะเลิกจ้างทันที โดยถือว่าเป็นเรื่องการขาดราชการ มิใช่เรื่องเกี่ยว กับการเรียกร้องใด ๆ

            ๖. ให้สอบสวนผู้มีรายชื่อเป็นกรรมการของศูนย์การบริหารงาน หรือศูนย์การบริหารงาน หรือศูนย์ประสานงานของยาม รก.ว่าได้เป็นกรรมการร่วมในการเรียกร้องโดยครั้งนี้จริงหรือไม่ ถ้าผู้มีรายชื่อปฏิเสธก็ให้รายงานเป็นหนังสือ เพื่อออก แจกจ่ายให้ยาม รก.ทราบโดยทั่วกัน และอาจลงข่าวข้อเท็จจริงลงในวารสารของกรม รก.เพื่อเผยแพร่ต่อไป

       ถ้าหากปรากฏว่าผู้มีรายชื่อในใบปลิวได้เป็นผู้ร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็ให้สอบสวนลงโทษเพราะในใบปลิวข้อความมิใช่การเรียกร้อง แต่เป็นการยุยงให้มีการขัดคำสั่งต่อความกระด้างกระเดื่องในการบังคับบัญชาและกล่าวเท็จให้ร้าย ผู้บังคับบัญชา

          ๗. ให้หาทางเป็นการส่วนตัว เพื่อเข้าถึงครอบครัวยาม รก.ให้เข้าใจข้อเท็จจริงเพื่อจะได้มีส่วนช่วยห้ามปรามสามีตน

          ๘. ให้ กรม รก.มอบหมาย พ.ต.องอาจ โพธิกนิษฐ ซึ่ง ศรภ.ส่งมาช่วยราชการ กรม รก. ปัจจุบันบรรจุเป็น ผบ.ร้อย.๒ พัน.รก.๑ จว.น.ม. มาทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการด้านการต่อต้านการข่าวกรองเพื่อศึกษาข่ายงานการเคลื่อนไหวของยาม รก.เหล่านี้ แล้ววางแผนเพื่อจำกัดการขยายงาน และหาทางขจัดปัญหาต่างๆต่อไปในลักษณะการต่อต้านการข่าวกรอง

         ๙. การพิมพ์คู่มือสิทธิประโยชน์ของยาม รก.ขอให้ กรม รก.ส่งต้นฉบับมาให้ บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้า สนับสนุน การพิมพ์ หรือแจกจ่ายต่อไป

        ๑๐. หาก กรม รก.ต้องการชุดประชาสัมพันธ์และ ปจว.จาก บก.ทหารสูงสุด ให้รีบรายงานขอมาเพื่อจะได้จัด เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และดำเนินการทางจิตวิทยาไปช่วยราชการที่ กรม รก.เป็นการช่วยชั่วคราว

        ๑๑. หาก กรม รก.พิจารณาเห็นว่างานด้านการข่าวกรอง เกินภาระที่ พ.ต.องอาจ ฯ จะปฏิบัติไปได้ให้รายงานมายัง บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้า เพื่อขอการสนับสนุนจาก ศรภ.ให้จัดชุดต่อต้านการข่าวกรองไปสนับสนุนเป็นการชั่วคราว

       ๑๒. บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้า รีบหานายทหารไปปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ร้อย.๒ พัน.รก.๑ ต่อไปโดยด่วน

       ๑๓. เนื่องจากยาม รก.ขาดหายไปเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่ทราบล่วงหน้าซึ่งอาจเป็นเหตุให้หน่วย รก.นั้น ๆ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ทันที เนื่องจากการขาดกำลังพล ขอให้ กรม รก.รายงานให้ ผบ.ศปรภ. ของฐานที่ตั้งหน่วยทหารนั้นได้ทราบ เพื่อพิจารณาจัดกำลังทหารประจำการเข้ารักษาหน้าที่แทน แล้วรายงานให้ บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้าทราบพร้อมกันด้วย

       ๑๔. ให้ กรม รก.ส่งบัญชีรายชื่อพร้อมด้วยรูปถ่ายของยามรก.ที่มีการเคลื่อนไหวในทางที่จะก่อความไม่สงบ แจกจ่าย ให้พัน.รก.ต่าง ๆ เพื่อได้ติดตามการเคลื่อนไหวและเสนอต่อ บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้า เพื่อขอรับการสนับสนุนจาก ศรภ.ในการติดตามการเคลื่อนไหวอีกทางหนึ่งด้วย

       ต่อมาในวันที่ ๑๐ มิ.ย.๒๕๑๘ ยามรักษาการณ์ของ พัน.รก.ที่ ๓ บก.สน. ได้นัดหยุดงานเพื่อไปกรุงเทพฯ ดำเนินการ เคลื่อนไหวประท้วงขับไล่ฐานทัพสหรัฐฯ ต่อไป กองทัพเรือจึงสั่งการให้ นย.จัดกำลัง ฉก.นย.๑๘๔ ไปทำหน้าที่ รักษาการณ์แทนยามรักษาการณ์(ไทยการ์ด) ของ พัน.รก.ที่ ๓ บก.สน.

๓. คำสั่งของ ทร.ให้ นย.จัดกำลังปฏิบัติการ

       คำสั่ง ทร.ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๑๗๑/๒๕๑๘ ลง ๑๗ มิ.ย.๒๕๑๘ การเตรียมการและปฏิบัติเมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบ

๔. การจัดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์

      - พัน.รก.๓ บก.สน. น.ท.จัตุรงค์ พันธ์คงชื่น

      - ฉก.นย.๑๘๔

          บก.พัน.

          ร้อย.บก.และบริการ

           ๒ ร้อย.ปล.พัน.ร.๓ ผส.นย.

           ๑ ร้อย.ปล.พัน.ร.๑ ผส.นย.

          ๑ ร้อย.ปล.พัน.ร.๗ ผส.นย.

       - ยุทโธปกรณ์

            กระสอบทราย จำนวน ๒๖,๐๐๐ ลูก

            ถุงมือยาง จำนวน ๑๐๒ คู่

            กระบองโล่ จำนวน ๑๙๑ ชุด

           หน้ากากป้องกันไอพิษ จำนวน ๙๐ ชุด

๕. ภารกิจ

       รักษาป้องกันที่ตั้งทางทหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคในพื้นที่สัตหีบและระยองจากผู้ก่อความไม่สงบ

๖. การปฏิบัติ

       ฉก.นย.๑๘๔ เข้าวางกำลังรักษาการณ์ในพื้นที่ตามเขตความรับผิดชอบ

            - เตรียมการ และเตรียมกำลังพร้อมที่จะปฏิบัติการได้เมื่อได้รับคำสั่ง

           - ระวังป้องกันที่ตั้งทางทหารและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนสาธารณูปโภค และปฏิบัติการตามแผนยุทธการ ผบ.ผส.นย.ที่ ๑/๒๕๑๘ (แผนยุทธการกรกฏ)

๗. ผลการปฏิบัติ

       ได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการ ไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้น ฉก.นย.๑๘๔ รักษาการณ์แทนยาม รักษาการณ์ที่ขาดไป

๘. การสูญเสีย

       ไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด

๙. บทเรียนจากการปฏิบัติ

       ๑. การข่าวนับเป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติต่าง ๆ ข่าวที่ได้รับจะต้องทันสมัย รวดเร็ว ทันเวลา

       ๒. การฝึกอบรมของข้าราชการทหารเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ควรให้มีการฝึกอบรมและแนะนำเกี่ยวกับการปราบปรามการก่อ ความไม่สงบให้มากขึ้น

        ๓. วินัยของข้าราชการทหารเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ผู้บังคับบัญชาควรมีการกวดขัน

       ๔. ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ข้าราชการทหารประพฤติปฏิบัติอยู่ในกฎระเบียบแบบแผนอันดีของ ทางราชการ

       ๕. การทำงานแข่งกับเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ข้าราชการจะต้องพร้อมตลอดเวลาในเหตุการณ์ที่จะต้องเผชิญหน้า

 
กรณีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ เมื่อ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙
 

๑. กล่าวนำ

        จากเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นการล้มรัฐบาลกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ซึ่งได้รับ สมญานามว่า “สามทรราช” ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยอันสดสวยงดงาม ทุกอย่างดูจะดำเนินไปสู่ใน แง่ดี ความหวังเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพ และเบ่งบานงอกงาม มีให้เห็น ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานนักก็เริ่มเจือจางไปด้วยความไม่แน่ใจ

        เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาทรง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ๒๓๔๖ คน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ จำนวน ๒๓๙ คนขึ้น เพื่อทำหน้าที่มีการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนชาวไทย มีการจัดตั้งคณะกรรมการ เผยแพร่ ประชาธิปไตย โดยมีนิสิต นักศึกษา เข้าทำหน้าที่เผยแพร่ประชาธิปไตยในต่างจังหวัด เมื่อรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้าบริหารประเทศ ปัญหาที่หมักหมมมานานก็ได้ถูกเปิดเผยขึ้น ได้แก่ ปัญหาความยุติธรรมในด้านต่าง ๆ การถูกกดขี่ข่มเหงโดยข้าราชการและระบบราชการ ได้มีการเดินขบวนเรียกร้อง ร้องเรียนรัฐบาล หรือโดยผ่าน ตัวแทนกลุ่ม มีการนัดหยุดงานของผู้ใช้แรงงาน การร้องทุกข์ของชาวนา และรัฐบาลถูกซ้ำเติม จากกลุ่มประเทศ ผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (โอเปค) ทำให้เกิดปัญหาน้ำมันแพง และขาดแคลน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ถีบตัวสูงขึ้น ปัญหาต่างๆทวีความรุนแรงขึ้น แต่อาศัยที่รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีมือสะอาด คณะรัฐมนตรีมีคุณธรรม การประกาศใช้รัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้น มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม ๒๕๑๘ ผลการเลือกตั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๑๗ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารราชการแผ่นดิน ประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการติดต่อรื้อฟื้นความสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ความตื่นตัวทางการเมืองมีมากขึ้น การตอบสนองของระบบราชการต่อความต้องการประชาชนมีมากขึ้น การวางอำนาจบาตรใหญ่ลดน้อยลง แต่ปฏิกิริยา โต้ตอบจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม เช่น กลุ่มกระทิงแดง มีแนวโน้มว่าจะมีการประจันหน้ากับกลุ่มอื่น มีการใช้ความรุนแรง ในการแก้ปัญหา การแสดงออกทางการเมืองเริ่มส่อให้เห็นความรุนแรง เช่น ตำรวจกลุ่มหนึ่ง ยกพวกไปทำลาย ข้าวของในบ้านนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช การยกพวกเข้าเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การขว้างระเบิด ใส่ผู้ประท้วงการตั้งฐานทัพอเมริกาและสถานีเรดาห์รามสูร การสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตเลขาธิการพรรค พลังสังคมนิยมแห่งประเทศ มีความคิดแตกแยกทางการเมืองเป็น ๒ ขั้ว คือ การแตกแยกของกลุ่มขวาจัดและซ้ายจัด โดยฝ่ายขวามองดูฝ่ายซ้ายจัดว่าเป็นหัวก้าวหน้าเป็นกลุ่มอันตรายต่อประเทศเป็นคอมมิวนิสต์มุ่งทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนกลุ่มซ้ายจัดมองดูเห็นว่ากลุ่มขวาจัดเป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี

๒. สถานการณ์

     ๒.๑ สถานการณ์ทั่วไป

           จากการคุกคามของฝ่ายซ้ายจัด ทำให้เวียดนาม ลาว เขมร ตกเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อให้เกิดความวิตกในกลุ่ม ฝ่ายขวาจัด การแตกแยกของคนในชาติ ระหว่างสองขั้วอาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง ทำให้เสียเอกราชได้ บรรยากาศทางการเมืองเต็มไปด้วยความตึงเครียด การยึดอำนาจโดยทหารอาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากการใช้เสรีภาพ และการตื่นตัวทางการเมืองเกินขอบเขตสถานการณ์ดังกล่าว แล้วจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่องอำนาจ และผลประโยชน์ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ในช่วงนี้เอง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แทน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ฯ ก็ได้พยายามแก้ไขแต่กระแสการขัดแย้งของขั้วทั้งสองยากที่จะตกลง ประกอบกับรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ฯ เป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ทำให้การเมืองไทยอ่อนลง

      ๒.๒ สถานการณ์เฉพาะ

            ภายหลังที่จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ได้ถูกให้ออกนอกประเทศ เมื่อเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่านทั้งสองได้พยายามที่จะเดินทางกลับสู่ประเทศไทย จอมพล ประภาส ฯ ได้เดินทางเข้ามาเพื่อ รักษาโรคตา และโรคหัวใจ แต่ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษา และประชาชนได้ทำการประท้วงต่อต้าน จึงได้เดินทางออก นอกประเทศไป ส่วนจอมพล ถนอมฯ ได้บวชเป็นสามเณรที่ประเทศสิงคโปร์ และได้นำครอบครัวเดินทางเข้าสู่ ประเทศไทย และเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศ กลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน และกลุ่มพลังต่าง ๆ ได้ต่อต้านการเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยของ จอมพล ถนอมฯ ได้มีการปิดโปสเตอร์ขับไล่ ชักชวนประชาชน นิสิต นักศึกษา ชุมนุมประท้วง และศูนย์นิสิต นักศึกษา ได้ใช้กำลังเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ชุมนุม ทั้งๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุมัติให้มีการชุมนุม

             ต่อมาในระหว่างที่มีการปิดโปสเตอร์ขับไล่อยู่นั่น ผู้ปิดโปสเตอร์ ๒ นาย ได้ถูกกลุ่มผู้สนับสนุนพระถนอมฯ ฆ่า และจับแขวนคอ ทำให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา โกรธแค้นมาก นักศึกษาได้ยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่อภิปรายชุมนุม ประท้วง เรียกร้องให้ขับไล่ พระถนอมฯ ออกไปจากประเทศไทย นอกจากนี้ภายในบริเวณ ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการอภิปรายและแสดงละครผูกเรื่อง ตั้งแต่ จอมพล ถนอมฯ บวชเป็นพระจน ถึงถูกกลุ่มของจอมพล ถนอมฯ ฆ่าแขวนคอที่นครปฐม เมื่อภาพแขวนคอ ปรากฏออกมาทางหนังสือพิมพ์ ได้เขียนตัวละครที่แสดงเป็นผู้ถูกแขวนคอ มีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทำให้กลุ่มผู้ต่อต้าน นิสิต นักศึกษา อาทิ กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มสหพันธ์นักศึกษา กลุ่มลูกเสือชาวบ้านจำนวนประมาณ ๔,๐๐๐ คน แสดงความไม่พอใจในการกระทำของนิสิต นักศึกษา จนเกิดเหตุบานปลายถึงขั้นใช้อาวุธร้ายแรงต่อสู้กัน รัฐบาล จึงได้สั่งการใช้กำลังเข้าระงับเหตุ และทำการกวาดล้างผู้ที่ทำการชุมนุม คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกัน นิสิต นักศึกษา และอาจารย์ที่ร่วมชุมนุมได้หลบหนีเข้าป่าและไปต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก

             ในตอนเย็นวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นั่นเอง พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า จึงได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง ประกาศเลิกใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ ๒๕๑๗ เลิกพรรคการเมือง และแต่งตั้ง นายธานิน กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

๓. คำสั่งของ ทร.ให้นย.จัดกำลังปฏิบัติการ

      ว.บก.ทร.ส่วนที่ ๒ ถึง นย. ที่ ๔/๑๐/๑๙ มวว.๐๖๑๖๔๐ ต.ค.๑๙

๔. การจัดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ

      - บก.สน.กท.

       - พัน.สห.นย. น.ท.นฤดล ปุราคำ

       - พัน.ร.๕ นย.(-)

       - พัน.ร.๖ นย.(-) น.อ.สงบ ศรลัมภ์

       - พัน.ร.๓ ผส.นย.(-) น.อ.พานิช นัยนานนท์

       - ปพ.๑๑ มม.

      - ปลย. M .๑๖

      - ปก. M .๖๐

๕. ภารกิจ

       กองทัพเรือรักษาความสงบเรียบร้อย สถานที่สำคัญให้กับส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เพื่อป้องกันการโจรกรรม และการก่อวินาศกรรมในเขตพื้นที่

๖. การปฏิบัติ

        สถานีทหารเรือกรุงเทพ (สน.กท.) จัดกำลังเฉพาะกิจตามแผนยุทธการ ผบ.ทร.ที่ ๒/๒๕๑๘ หน่วยที่มีหน้าที่ สนับสนุนโดยตรงเตรียมพร้อม ๑๐๐ % และให้ สน.กท.จัดกำลังไปป้องกันสถานที่ตามแผนเมื่อ ๐๖๑๗๔๕ ต.ค.๑๙ กำลัง ทร.เข้าประจำพื้นที่ ๑๗ จุด ตลอดจนจัดกำลังสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการต่าง ๆ

       ๖.๑ กองพันทหารราบที่๕ กรมนาวิกโยธิน

             จัดกำลังไปรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญให้กับส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ตามแผนปฏิบัติการ ผบ.พัน.ร.๕ นย.ที่ ๑/๒๕๑๙ เพื่อป้องกันการโจรกรรมและ การก่อวินาศกรรม ตามพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

             ๖.๑.๑ บริเวณโรงจักรพระนครใต้ จำนวน ๑ หมวดปืนเล็ก (-)

             ๖.๑.๒ บริเวณสะพานพระโขนง (กึ่งกลางสะพานมาทางด้านปากน้ำ) จำนวน ๑ หมวด ปืนเล็ก (-)

             ๖.๑.๓ บริเวณด่านตรวจสามแยกปากน้ำ-ถนนสายเก่าไปชลบุรี จำนวน ๑ หมวดเล็ก (-)

             ๖.๑.๔ บริเวณด่านตรวจสี่แยกบางนา-ตราด จำนวน ๑ หมวดปืนเล็ก (-)

             ๖.๑.๕ บริเวณสถานที่สำคัญอื่น ๆ ในเขตรับมอบ จำนวน ๑ หมวดปืนเล็ก (-) ปฏิบัติเมื่อสั่ง

        ๖.๒ กองพันทหารราบที่ ๖ กรมนาวิกโยธิน

            จัดกำลังรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญให้กับส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ตามแผนปฏิบัติ ผบ.สน.กท.ที่ ๑/๒๕๑๘ เพื่อป้องกันการโจรกรรม และการก่อวินาศกรรม ดังนี้

            ๖.๒.๑ บริเวณโรงจักรพระนครเหนือ และสถานีจ่ายไฟย่อยพระนครเหนือ จำนวน ๑ หมวดปืนเล็ก

            ๖.๒.๒ บริเวณสถานีจ่ายไฟย่อยบางยี่ขัน (เชิงสะพานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า) จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก

            ๖.๒.๓ สะพานบางกอกน้อย/สะพานอรุณอัมรินทร์ จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก เพิ่มเติมกำลัง

            ๖.๒.๔ บริเวณโรงกรองน้ำประปา (สามแยกไฟฉาย) จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก

            ๖.๒.๕ บริเวณชุมสายโทรศัพท์ และสถานีจ่ายไฟย่อยธนบุรี (เชิงสะพานเนาวจำเนียร) จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก เพิ่มเติมกำลัง

            ๖.๒.๖ ชุมสายโทรศัพท์บางแค (แขวงบางไผ่ เขตภาษีเจริญ) จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก เพิ่มเติมกำลัง

            ๖.๒.๗ บริเวณสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย เพชรเกษม (ปากทางที่ทำการเขตภาษีเจริญ) จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก

            ๖.๒.๘ บริเวณสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย บางกอกน้อย (บางแค) จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก

            ๖.๒.๙ บริเวณชุมสายโทรศัพท์ดาวคะนอง (ใกล้สะพานดาวคะนอง) จำนวน ๑ หมู่ปืนเล็ก ๖.๓ กองพันสารวัตร กรมนาวิกโยธิน

        จัดกำลังสมทบกับ จนท.ตำรวจ ทำการตรวจค้นพื้นที่สงสัยว่าจะเป็นแหล่งซุกซ่อนอาวุธสงคราม เอกสารเผยแพร่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามที่ จนท.ตำรวจกองปราบปราม ร้องขอ ดังนี้

            ๖.๓.๑ ตรวจค้นบ้านพักอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ตรอกไผ่ ถนนจรัลสนิทวงศ์

            ๖.๓.๒ ตรวจค้น รร.ช่างกล พระราม ๖

            ๖.๓.๓ จับกุมชาวญวน ที่บริเวณโรงพิมพ์อธิปัตย์

        ๖.๔ กองพันทหารราบที่ ๓ กรมผสมนาวิกโยธิน กรมนาวิกโยธิน จัดกำลังดำเนินการ ดังนี้

              ๖.๔.๑ มอบกำลัง ๑ หมวดปืนเล็ก สมทบให้กับกองพันทหารราบที่ ๕ กรมนาวิกโยธิน

              ๖.๔.๒ กองพันทหารราบที่ ๓ กรมผสมนาวิกโยธิน กรมนาวิกโยธิน ๒ หมวปืนเล็ก และ บก.พันเข้าที่รวมพลสถานี ทหารเรือกรุงเทพ โดยทางรถ และทางเรือ

              ๖.๔.๓ จัดกำลัง ๑ หมวดปืนเล็กรักษาการณ์ โรงจักรพระนครเหนือ

๗. ผลการปฏิบัติ

      ได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการ การปฏิบัติต่อมวลชนอย่างนุ่มนวล มีมนุษยสัมพันธ์อันดี ทำให้ทหารเรือเป็นที่รักของประชาชน

๘. การสูญเสีย

       ไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด

๙. บทเรียนจากการปฏิบัติ

       ๙.๑ กลุ่มมวลชนมีการจัดตั้งอย่างมีระบบแบบแผน และมีการเตรียมการที่ดีในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนการป้องกันตนเองให้รอดจากอันตราย ของฝ่ายตรงข้าม

       ๙.๒ มีการปลุกระดมที่เป็นระบบอันได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี และต่อเนื่อง

       ๙.๓ แบบอย่างในการปฏิบัติในการประท้วงและต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามได้รับการฝึกสอน ทำให้ฝ่ายปราบปรามหนักใจ เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน

       ๙.๔ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเกินขอบเขตของการปราบปรามการก่อความไม่สงบ

       ๙.๕ ควรมีความสำนึกในความเป็นไทย ควรมีความเมตตาปราณีต่อกัน

        ๙.๖ การปฏิบัติการต่อประชาชนอย่างนุ่มนวล มีมนุษยสัมพันธ์ยิ่ง ย่อมเป็นผลดีต่อหน่วย และทางราชการ

 
กรณีเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ เมื่อ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เรียกว่า “ พฤษภาทมิฬ”
 

๑. กล่าวนำ

     ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อ ๒๒ มี.ค.๓๕ ได้เกิดการขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคการเมือง ที่รวมตัวกันเป็นเสียงข้าง มากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ไม่สามารถจะสรรหาบุคคล ภายในพรรคให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ จึงได้ตกลงกัน สนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ.ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้นำความเข้ากราบทูลฯ ต่อมาในวันที่ ๗ เม.ย.๓๕ จึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้งในครั้งนี้ ทำให้พรรคฝ่ายค้านและผู้ที่ไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี เกิดความ ไม่พอใจที่นำบุคคลที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ประชาชนยัง คลางแคลงใจต่อความซื่อสัตย์ของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ทำให้สถานการณ์ ส่งผลกระทบ ต่อศรัทธา ของประชาชน ที่มีต่อรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ในขณะนั้น มวลชนที่เป็นนิสิต นักศึกษา กำลังรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มต่าง ๆ จึงถือโอกาสเคลื่อนไหว และเกิดเหตุการณ์ ประท้วงกันขึ้นโดย ร.ต.ฉลาด วรฉัตร อดีต สส.จว.ตราด ได้เริ่มประท้วงอดอาหารที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อ ๙ เม.ย.๓๕ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ ได้มีการปลุกระดมมวลชน ให้เข้ามารับฟังการอภิปรายที่บริเวณ ลาน พระรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยตั้งเงื่อนไขว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

๒. สถานการณ์

     ๒.๑ สถานการณ์ทั่วไป

          การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเริ่มตั้งแต่ ๔ เม.ย.๓๕ เป็นต้นมา มีการปลุกระดมชักจูง ให้มวลชนไปร่วมฟัง อภิปราย ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำโดยนายชวน หลีกภัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โดยคัดค้านการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในขณะเดียวกัน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ประท้วงโดยการอดอาหารร่วมกับ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร อีกด้วย ได้เลิกอดอาหาร และนำมวลชนจำนวน ๗๐,๐๐๐ คน เคลื่อนจากรัฐสภาไปยังสนามหลวง โดยผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดประสงค์เพื่อจะไปเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่เจ้าหน้าที่ กกล.รพน.ไม่ยินยอมได้สกัดกั้นหยุดมวลชนไว้บริเวณสะพานผ่านฟ้า ต่อมามีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เพื่อขอเวลาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ชั่วระยะหนึ่ง วันที่ ๑๑ พ.ค.๓๕ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จึงประกาศยุติการชุมนุมก่อนและจะชุมนุมประท้วงใหม่ในวันที่ ๑๗ พ.ค.๓๕ ถ้าไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

      ๒.๒ สถานการณ์เฉพาะ

            สถานการณ์ได้ส่อเค้าถึงความวุ่นวายมากขึ้น ตั้งแต่ ๑๖ พ.ค.๓๕ เริ่มจากการขัดแย้งด้านหลักการของพรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นไปตามขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องเริ่มด้วยมติของ พรรคการเมืองแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขในรัฐสภา ซึ่งในประเด็นดังกล่าวกลุ่มฝ่ายค้าน กล่าวหาว่า พรรคการเมือง ร่วมรัฐบาล ผิดสัญญาที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยทันทีที่ตกลงกัน และกล่าวหาว่าทหารเป็นผู้ชี้นำ และเป็น เผด็จการมีการโจมตีบุคคลและ สถาบันทหารอย่างกว้างขวาง กิจกรรมของฝ่ายรัฐบาลถูกหยิบยกขึ้นมา กล่าวหาว่า กระทำการขัดขวางการชุมนุมโดยสันติและเจตนาขัดขวางและทำลายประชาธิปไตย

            วันที่ ๑๗ พ.ค.๓๕ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ปลุกระดมมวลชนที่บริเวณท้องสนามหลวง มีผู้ร่วมชุมนุม ๑๕,๐๐๐ คน และมีผู้มาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลไม่กระทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ เวลาประมาณ ๒๑๒๐ พล.ต.จำลอง ฯ ได้นำผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายจากสนามหลวงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุม ได้เดินทาง ถึงบริเวณสะพานผ่านฟ้า ได้ถูกฝ่ายรัฐบาลสกัดกั้นเพื่อมิให้ฝ่ายผู้ชุมนุมผ่านไปยังทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำรถดับเพลิงฉีดน้ำ สกัดกั้นเพื่อสลายมวลชน แต่ได้ถูกผู้ชุมนุมยึดรถดับเพลิงได้ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่อยู่ในลักษณะควบคุมได้แล้ว ได้กลับเข้าเผชิญหน้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล มีการขว้างปาสิ่งของ และเปลี่ยนเป็นขวดใส่น้ำมันจุดไฟ และดอกไม้เพลิงขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ

             วันที่ ๑๘ พ.ค.๓๕ เวลา ๐๐๓๐ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผอ.กอ.รส.ภน.ประกาศภาวะฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กกล.รพน.สั่งการให้แต่ละ กกล.ดำเนินการแผนไพรีพินาศ/๓๓ และคำสั่งยุทธการที่ ๑/๓๕ สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีฝูงชนเข้ามาร่วมประท้วงเป็นจำนวนเรือนแสน (ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน) จะผ่านแนวสกัดกั้นขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ยึดรถเมล์ และรถน้ำมัน ให้แล่นฝ่าแนวสกัด กั้นของเจ้าหน้าที่ให้ร่นถอย ตลอดจนปิดล้อมจะวางเพลิงสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง ขณะเดียวกันมี รถจักรยานยนต์ ประมาณ ๖๐๐ คัน ขับวนเวียนก่อกวนตามสถานที่ต่าง ๆ ในเขตฝั่งธนบุรี ปิดกั้นการจราจรบริเวณ เชิงสะพานพระพุทยอดฟ้า เวลา ๒๓๐๐ ผู้ชุมนุมได้วางเพลิงเผาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และป้อมตำรวจหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เกิดเหตุการณ์โกลาหล ประชาชนวิ่งหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

              วันที่ ๑๙ พ.ค.๓๕ เวลา ๐๐๓๐ มีเสียงปืนดังเป็นจำนวนมาก ดังมาจากด้านสนามหลวงและหน้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประชาชนผู้ร่วมชุมนุมวิ่งหนี ปะปนหลบมาอยู่กับทหารที่วางแนวป้องกันอยู่บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เวลา ๐๑๐๐ กลุ่มจักรยายนยนต์ ได้ทำลายและเผาป้อมยาม และสัญญาณ ไฟจราจรตามที่ต่าง ๆ ทั้งบริเวณฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร มีประชาชนที่บาดเจ็บร้องขอให้รับคนเจ็บข้ามไปยัง ร.พ.ศิริราช เวลา ๐๕๐๐ เพลิงไหม้กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ กกล.ทร.เข้าควบคุมเพลิงไว้ได้ หอศิลป์พีระศรีรอดพ้นจากเพลิงไหม้

              วันที่ ๒๐ พ.ค.๓๕ กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานตั้งแต่ ๒๑๐๐ – ๐๔๐๐ ของวันรุ่งขึ้น ผู้ชุมนุมอยู่ที่เชิงสะพาน สมเด็จพระปิ่นเกล้า ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทาง กกล.ทร.ไม่ยอมให้ข้ามไปทางฝั่งพระนคร เวลา ๒๑๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเรียก นายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุจินดา คราประยูร) และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง มาพบที่พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน ให้ทั้งสองยุติ ความขัดแย้งให้ช่วยกันช่วยเหลือ บ้านเมืองอย่าได้ขัดแย้งกัน ต่อมา พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ฝูงชนจึงได้สลายการชุมนุมประท้วง

๓. คำสั่ง ทร.ให้ นย.จัดกำลังไปปฏิบัติราชการ

     ว.ศปก.ทร.ลับมากที่ ๘๘/๕/๓๕ มวว.๑๘๐๑๓๕ พ.ค.๒๕๓๕

๔. การจัดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์

      - กกล.ทร. พลเรือตรี ประสาน จันทรัศมี

      - กองพันปราบจลาจล น.อ.ชัยวัฒน์ ภู่ทอง กำลังพล ๖๙๓ นาย

      - กอง รปภ.สน.กท. น.อ.วิชญ์ สุกใส

      - กรม สห.ทร. น.อ.ชัยวัฒน์ ภู่ทอง

      - พัน.ร.นย.ที่ ๑ น.ท.ดำรงค์ศักดิ์ ขันทองดี กำลังพล ๓๘๖ นาย

      - พัน.ร.นย.ที่ ๒ น.ท.ไตรขวัญ ไกรฤกษ์ กำลังพล ๓๘๖ นาย

      - กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา นย. ๔ ชุดปฏิบัติการ

อาวุธยุทโธปกรณ์

     - ปพ.๘๖ จำนวน ๑๑ กระบอก

     - ปลย. M ๑๖ จำนวน ๓๖๓ กระบอก

     - ปก. M .๖๐ จำนวน ๑ กระบอก

พาหนะ

     - รยบ. M .๑๕๑ จำนวน ๓ คัน

     - รยบ. M .๓๕ A .๑ จำนวน ๔ คัน

     - รยบ. ๒ ๑/๒ ตัน จำนวน ๘ คัน

     - รถ V- ๑๕๐ จำนวน ๔ คัน

๕. ภารกิจ

      กกล.ทร.รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสถานที่และรัฐวิสาหกิจ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้พ้นจากการโจรกรรมและการก่อวินาศกรรม

๖. การปฏิบัติ

      สถานการณ์ตั้งแต่ ๗ เม.ย.๓๕ – ๑๓ พ.ค.๓๕

       กกล.ทร.ได้ปฏิบัติปฏิบัติการไปตามแผนไพรีพินาศ/๓๓ ในขั้นที่ ๑ ขั้นเตรียมการ (ตามข่าว กกล. รพน.ลับมาก ที่ กกล.๑๐๐/๙๙๐ ลง พ.ค.๓๕) โดยดำเนินการดังนี้

       ๑. ติดตามสถานการณ์ด้านข่าว โดย กกล.รพน.สั่งการให้ กกล.ต่าง ๆ เพิ่มการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล กลุ่มบุคคลโดยใกล้ชิด จัด นตต.พร้อม เครื่องมื่อสื่อสารประจำรถ กกล.รพน.ใน ๐๕๑๓๐๐ พ.ค.๓๕ กกล.ทร.ได้จัด น.อ.สุรินทร์ รอดสวาสดิ์ เป็น นตต.กกล.ทร.ไปประจำที่ บก.กกล.รพน. (ตามข่าว กกล.ทร.ลับมากที่ ๕/๕/๓๕ มวว.๐๕๑๔๐๐ พ.ค.๓๕)

       ๒. พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี ผบ.กกล.รพน. สั่งการให้ กกล.ต่าง ๆ เตรียมปฏิบัติตามแผนไพรีพินาศ/๓๓ ขั้น ๒ (ขั้นการป้องกัน) พร้อมปฏิบัติตั้งแต่ ๐๗๐๐๐๐ พ.ค.๓๕ (ตามข่าว ผบ.กกล.รพน.ลับมากที่ กกล.๐๐๑/๙๖ ลง ๖ พ.ค.๓๕)

       ๓. ผบ.กกล.รพน.สั่งการให้ กกล.ต่าง ๆ ปฏิบัติตามแผนไพรีพินาศ/๓๓ ขั้น ๒ (ขั้นการป้องกัน) ตั้งแต่ ๑๗๐๐ (ตามข่าว ผอ.กกล.รพน.ลับมากที่ กกล.๑๐๐/๑๐๐๐ ลง ๗ พ.ค.๓๕)

          ๓.๑ กอง รปภ.สน.กท.วางกำลังป้องกันสถานที่สำคัญที่ต้องยึดรักษา ๘ แห่ง คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ สถานีถ่ายทอดกรมประชาสัมพันธ์ศาลายา สถานีไฟฟ้าทางด้านบางกอกน้อย โรงกรองน้ำธนบุรี โรงกลั่นน้ำมันบางจาก สถานีสับเปลี่ยนไฟฟ้า ๓ โรง และการท่าเรือด้านใต้พระโขนง

          ๓.๒ กอง รปภ.สพ.ทร.วางกำลังเข้าจุดสกัดกั้น ๘ จุด คือ บางนา-กม.๔ เทพารักษ์ติดกับศรีนครินทร์หน้ามหาวิทยาลัยเกริก หน้า สน.ตลิ่งชัน วงแหวนสาย ๑ – บางบัวทอง เอกชัย-ปากท่อ กม.๒๑ สาย ๔ ด่านตรวจ สภ.ต.พุทธมณฑล อ้อมน้อย-แยกกระทุ่มแบน

          ๓.๓ จัดชุด ปจว. ๓ ชุด ออกแจกใบปลิวและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ในเคหะสถานตามบริเวณชุมชน เช่น สถานีขนส่งสายใต้ วงเวียนใหญ่ สี่แยกท่าพระ หน้า ร.พ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ห้างสรรพสินค้าพาต้า สี่แยกบางนา สำโรง เทพารักษ์ และอำเภอเมืองสมุทรปราการ

         ๓.๔ กรมสารวัตรทหารเรือ และ กอง รปภ.สน.กท. จัดกำลังหน่วยละ ๑ กองร้อยเป็นกองพันปราบจลาจล ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินนอก กำลังพลทั้งสิ้น ๖๙๓ นาย

สถานการณ์ตั้งแต่ ๑๗ – ๒๘ พ.ค.๓๕

        กกล.ทร.ได้ปฏิบัติตามแผนไพรีพินาศ/๓๓ ในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ (ตามข่าว กกล.รพน.ลับมาก ที่ กกล.๑๐๐/๑๑๒๖ ลง ๑๗ พ.ค.๓๕ และ ที่ กกล.๑๐๐/๑๑๓๒ ลง ๑๗ พ.ค.๓๕) โดยปฏิบัติดังนี้

        ๑. จัด นตต.พร้อมเครื่องมือสื่อสารไปประจำ บก.กกล.รพน. กกล.ทร.จัด น.อ.สุรินทร์ รอดสวาสดิ์ เป็น นตต.กกล.ทร. ไปประจำที่ กกล.รพน.ตั้งแต่ ๑๒๐๐ วันที่ ๑๗ พ.ค.๓๕

       ๒. ติดตามเฝ้าตรวจสถานการณ์การเคลื่อนไหว โดยใช้ชุดเคลื่อนที่เร็ว

           ๒.๑ กรมสารวัตรทหารเรือ และ กอง รปภ.สน.กท.จัดหน่วยละ ๑ กองร้อย และ กอง รปภ.สพ.ทร.จัด ๑ หมวด ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่

           ๒.๒ กรมสารวัตรทหารเรือ และ กอง รปภ.สน.กท. จัดกองร้อยปราบจลาจลประกอบเป็นกองพันปราบจลาจล ตั้งแต่ ๑๗ พ.ค.๓๕ เวลา ๑๔๐๐ (คำสั่งยุทธการ ผบ.กกล.ทร.ลับมากที่ ๑/๓๕) โดยมี น.อ.ชัยัวฒน์ ภู่ทอง เป็น ผบ.พัน.ปราบจลาจล

       ๓. พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี ผบ.กกล.รพน.สั่งการให้ปฏิบัติการตามแผนไพรีพนาศ/๓๓ ขั้น ๒ และคำสั่งยุทธการ กกล.รพน.ที่ ๑/๓๕ โดยให้ กกล.ทร.จัดกองพันปราบ จลาจลเข้ารวมพลขั้นต้นบริเวณหน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน และเตรียมปฏิบัติตามแผนไพรีพินาศ/๓๓ ขั้นต่อไป ทุกหน่วยสามารถสับเปลี่ยนกำลังกับหน่วยที่ปฏิบัติไปแล้ว อย่างต่อเนื่อง

       ๔. วันที่ ๑๘ พ.ค.๓๕ เวลา ๐๐๓๐ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผอ.กอ.รส.ภน.ประกาศภาวะฉุกเฉินในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กกล.รพน.สั่งกองพันปราบจลาจลเคลื่อนย้ายกำลังจากหน้ารัฐสภามาระวังป้องกัน ทำเนียบรัฐบาล ด้านวิทยาเขตพานณิชยการพระนคร ถนนศรีอยุธยา เนื่องจากผู้ชุมนุมได้เข้าทำการเผารถยนต์ และรถน้ำมัน อาคารสถานที่ของรัฐบาล อาทิ ล้อม สน.ดับเพลิงภูเขาทอง เผาสำนักงานสลากกินแบ่ง และ กรมประชาสัมพันธ์

       ๕. วันที่ ๑๘ พ.ค.๓๕ เวลา ๐๑๓๕ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทหารสูงสุด/ผบ.รส.ภน.ได้ให้ ทร.เคลื่อนย้ายกำลัง พัน.ร.นย.มารับสถานการณ์ ผบ.ทร.(พล.ร.อ.วิเชษฐ การุณยวณิช) ได้สั่งการให้ นย.เคลื่อนย้ายกำลัง พัน.ร.นย.ที่ ๑ มาพร้อมที่ สน.กท.และขึ้นการบังคับบัญชากับ ผบ.สน.กท.(พล.ร.ต.ประสาน จันทรัศมี) และจัดการระวังป้องกันสถานที่สำคัญที่ต้องยึดรักษา พัน.ร.นย.ที่ ๒ เข้าที่ตั้งรวมพลที่สนามกีฬาภูติอนันต์ และขึ้นบังคับบัญชากับ ผบ.สน.กท.(ตามข่าว ศปก.ทร.ที่ ๘๘/๕/๓๕ มวว.๑๘๐๑๓๕ พ.ค.๓๕)

           ๕.๑ กกล.ทร.สั่งการให้ กอง รปภ.สน.กท. และ กอง รปภ.สพ.ทร. นำกำลังไประวังป้องกันสถานที่สำคัญตามแผน พิฆาตไพริน/๓๓ ขั้น ๒ (ตามข่าว กกล.ทร.ลับมากที่ ๙๑/๕/๓๕ มวว.๑๘๐๒๒๕ พ.ค.๓๕) โดยกองพันปราบปราม จลาจลจัดการระวังป้องกันที่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และที่บริเวณถนนดินสอ ขณะนี้จำนวนฝูงชนที่เข้า มาร่วมชุมนุมประมาณ ๗๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์สับสนวุ่นวาย

           ๕.๒ กกล.ทร.สั่งการให้กองร้อยป้องกันสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประชาสัมพันธ์ และ ปจว.ทำความเข้าใจกับ ผู้ชุมนุมด้วยความมีมนุษยสัมพันธ์ ชี้แจงให้มวลชนสลายการชุมนุม และห้ามรถยนต์ข้ามมายังฝั่งพระนคร ขณะเดียวกันกับเวลา ๑๒๔๕ กำลังจาก พล.ร.๙ ขอผ่านทางขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แต่ติดผู้ชุมนุมรถ ไม่สามารถผ่านไปได้จึงนำกำลังพลเดินเท้าฝ่าแนวปิดกั้นของ กกล.ทร.

           ๕.๓ เวลา ๑๕๒๐ กกล.รพน.ปฏิบัติการสลายผู้ชุมนุมจาก สะพานผ่านฟ้าไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กองพันปราบจลาจลของ กกล.ทร.ซึ่งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยปฏิบัติหน้าที่เป็นกองหนุน เจ้าหน้าที่ กกล.ทบ.เข้าจับกุมตัว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อวันที่ ๑๕๒๓ การสลายฝูงชนในถนนดินสอ ตั้งแต่บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงสี่แยกศาลาว่าการกรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จ ไม่มีการใช้อาวุธ

          ๕.๔ เวลา ๒๑๑๐ ผู้ชุมนุมได้ยึดรถโดยสารประจำทาง จำนวน ๙ คัน นำมาขวางถนนบริวณ สำนักงานสลากกินแบ่ง รัฐบาล และกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมมีประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ๖. วันที่ ๑๙ พ.ค.๓๕ กกล.ทร.ได้ออกคำสั่งยุทธการ (ลับมาก) ผบ.กกล.ทร.ที่ ๒/๓๕ ลง ๑๙๑๐๐๐ พ.ค.๓๕ ให้ กรม สห.ทร., กอง รปภ.สน.กท., กอง รปภ.สพ.ทร. และ พัน.ร.นย.ที่ ๑ จัดกำลังปฏิบัติดังนี้

               - จัดชุดร่วมทหาร-ตำรวจ ๗ สถานี คือ สน.พระโขนง, สน.สมเด็จเจ้าพระยา, สน.สำเหร่, สน.ท่าพระ, สน.ภาษีเจริญ, สน.บางยี่ขัน และ สน.บางกอกใหญ่

               - จัดชุดสายตรวจร่วมทหาร-ตำรวจ ในพื้นที่รับผิดชอบ กกล.ทร.

               - จัดกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว ๑ กองร้อย พร้อม ณ ที่ตั้ง สน.กท.

               - จัดกำลัง ๑ หมู่ รปภ.สน.กท.ไประวังป้องกันชุมสายโทรศัพท์ลาดหญ้า

       ๖. วันที่ ๒๐ พ.ค.๓๕ กกล.ทร.ได้สั่งการให้กองพันปราบจลาจลสลายมวลชน บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยมี น.อ.วิชญ์ สุกใส เป็นผู้ควบคุม สั่งการ ใช้กำลังกองร้อยปราบจลาจลจาก กอง รปภ.สน.กท.เมื่อเวลา ๑๖๑๐ ฝูงชนสลายตัวปฏิบัติการเรียบร้อย เมื่อเวลา ๑๖๕๐ ไม่มีผู้บาดเจ็บ ไม่มีการใช้อาวุธ

       ๗. ตั้งแต่วันที่ ๒๑ พ.ค.๓๕ เป็นต้นมา เหตุการณ์ทั่วไปปกติ กกล.ทร.จัดกำลังปกิบัติตามแผนไพรีพินาศ/๓๓ ในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ คือ จัดชุดสายตรวจตรวจร่วมทหาร-ตำรวจ กลับเข้าที่ตั้งปกติ ในวันที่ ๒๓ พ.ค.๓๕

        ๘. ทร.สั่งให้ พัน.ร.นย.เดินทางกลับที่ตั้งปกติ เมื่อ ๒๘ พ.ค.๓๕ โดยเหลือชุด ลว.ยายนยนต์ และรถ V -๑๕๐ จำนวน ๔ คน ไว้ปฏิบัติภารกิจต่อไป

๗. ผลการปฏิบัติ

       ได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการ ประชาชนเกิดความรักใคร่และศรัทธาในการปฏิบัติงานของทหารในกองทัพเรือที่ได้ปฏิบัติการกับประชาชนอย่างนุ่มนวล

๘. การสูญเสีย

        ไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด

๙. บทเรียนจากการปฏิบัติ

      ๙.๑ ผู้นำการชุมนุมจะต้องสามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ

      ๙.๒ มีการเตรียมการที่จะให้การชุนุมพัฒนาเป็นการจลาจล มีการเตรียมการ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

      ๙.๓ มีการปล่อยข่าวลือให้ประชาชนต่อต้านและเกลียดชังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของรัฐบาลโดยวิธีสื่อสารที่ทันสมัยและไม่จำกัดขอบเขต

      ๙.๔ กกล.รพน.ใช้หน่วยในการปราบปรามจลาจลผิด ไม่มีเครื่องมือปราบจลาจลที่พร้อม เช่น ไม่มีกระสุนยาง แก๊สน้ำ ฯลฯ

      ๙.๕ กกล.รพน.ไม่มีการตรวจสอบข่าวสารที่จริง ทันสมัย

       ๙.๖ กกล.รพน.ไม่รับฟังสถานการณ์จากฝ่ายอำนวยการที่ได้ศึกษาสถานการณ์อย่างสุขุมรอบคอบแล้ว

      ๙.๗ กกล.รพน.ไม่มีการเตรียมการในการใช้กำลัง แก้ไขสถานการณ์เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายไว้แต่เนิ่น ๆ

      ๙.๘ กกล.รพน.ไม่ศึกษาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ สุขุมรอบคอบ

      ๙.๙ จากการปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความมีมนุษยสัมพันธ์ ย่อมเป็นผลดีแก่หน่วย