ยุทธการบ้านหาดเล็ก
อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
 

      เหตุการณ์ที่บ้านหาดเล็กได้ทวีความรุนแรงขึ้นมีการก่อกวนราษฎรไทยที่อาศัยและประกอบอาชีพประมง บริเวณหมู่บ้านหาดเล็กบ่อยครั้ง และเมื่อ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ ทหารกัมพูชาได้ยิงปืนเล็ก ปืนกล และปืนใหญ่ขนาด ๗๕ มม. เข้ามายังหมู่บ้านหาดเล็ก ทางกรมนาวิกโยธิน จึงได้สั่งให้ กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน จัดกำลังไปป้องกันบ้านหาดเล็ก ในขณะนั้นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินเมื่อครั้ง ดำรงยศเป็น เรือโท วสินธ์ สาริกะภูติ ทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง นำกำลังไปป้องกันบ้านหาดเล็ก ได้กรุณาเขียนเล่าเหตุการณ์ที่บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

      ทหารนาวิกโยธินได้ส่งกำลังไปป้องกันบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ๒ ห้วงเวลา หรือ ๒ ภาค ภาคแรกตั้งแต่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ และเมื่อ นายพล ลอนนอล ปกครองกัมพูชา มิตรภาพไทย-กัมพูชา กลับคืนดีเหมือนเดิม กองทัพเรือ จึงถอนกำลัง นย.ที่บ้านหาดเล็กกลับที่ตั้งปกติ ในปี ๒๕๑๕

      ภาคแรกนี้ กำลังหลัก (ทหารราบ) จัดจากกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธินทั้งสิ้น ส่วนหมู่ลาดตระเวนจัดจาก กองร้อยลาดตระเวน กรมผสมนาวิกโยธิน และปืนใหญ่เบาวิถีโค้ง ขนาด ๗๕ มม.และเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๔.๒ นิ้ว จัดจาก กองพันทหารปืนใหญ่ กรมผสมนาวิกโยธิน

      ภาคที่ ๒ เมื่อเขมรแดงชนะเขมรรัฐบาลลอนนอล ทำให้สถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ตึงเครียดขึ้นอีก กองทัพเรือ จึงส่งกำลังนาวิกโยธินไปป้องกันชายแดนที่บ้านหาดเล็ก และบริเวณใกล้เคียงอีกครั้ง ตั้งแต่ ๒๕๑๘ เป็นต้นมา จนกระทั่งบัดนี้ ภาค ๒ กำลังหลัก(ทหารราบ) จัดจากกองพันทหารราบต่าง ๆ หมุนเวียนกันในรอบปี

      สาเหตุครั้งแรกเกิดจากทหารเขมรของรัฐบาลเจ้าสีหนุยิงปืนเล็กและปืนกลจำนวนนับไม่ถ้วนจากบริเวณสันเขาบรรทัด(ใกล้หลักเขต ๗๒ บนสันเขา) เข้ามาในหมู่บ้านหาดเล็ก ในเช้าวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ และได้ยิงปืนใหญ่ ขนาด ๗๕ มม.จากเขาโอบยาม ทางทิศใต้ของหมู่บ้านหาดเล็ก เข้ามาตกในหมู่บ้านหาดเล็ก และบริเวณใกล้เคียง ประมาณ ๗ นัด ผลชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ ๑ นาย ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่รวมทั้งพระสงฆ์ ต้องอพยพหลบภัยไปอยู่ที่อื่น จนบ้านหาดเล็กเกือบ จะเป็นหมู่บ้านร้าง ทางจังหวัดตราด จึงวิทยุถึง กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน ขอกำลังทหารไปปกป้องคุ้มครองบ้านหาดเล็ก นาวาโท วิศิษฐ์ หาสุณหะ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน จึงได้รายงานเหตุการณ์ และคำขอของจังหวัดตราดขึ้นไปตามลำดับ ในที่สุด บก.ทหารสูงสุด สั่งให้ กองทัพเรือ จัดกำลังไปป้องกันบ้านหาดเล็ก ตามคำร้องขอของทางจังหวัดตราด กองทัพเรือจึงสั่งให้ กรมนาวิกโยธิน ให้ส่งกำลังจากกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน ไปป้องกันบ้านหาดเล็กดังกล่าว

      ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน ได้สั่งเตรียมกำลัง ๑ หมวดปืนเล็ก เพิ่มเติมกำลัง ตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๐๐๐ ของวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ โดยมี เรือโท วสินธ์ สาริกกะภูติ เป็นผู้บังคับหมวด และเมื่อคำสั่งอนุมัติจากหน่วยเหนือส่งไปถึงประมาณตีสองคืนนั้น ก็ได้สั่งเคลื่อนย้ายหน่วยหมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง
ออกจากค่ายตากสิน เวลาประมาณ ๐๓๐๐ ของเช้าวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ โดยรถยนต์ทหารจากค่ายตากสินไปลงเรือรบของกองทัพเรือ คือ เรือ ปร.๑๖ เรือโท ประสาน จันทรัศมี เป็นผู้บังคับการเรือ (ยศสุดท้ายพลเรือตรี เกษียณราชการแล้ว) ณ ท่าเรือแหลมงอบ มีเรือหลวงพาลีให้การคุ้มกัน กำลังทั้งหมดต้องนั่งตากแดดบนเรือ ปร.๑๖ ประมาณ ๕–๖ ชั่วโมง เนื่องจากเป็นเรือเล็กนั่งเบียดเสียดกันบนดาดฟ้า เรือส่งขึ้นบกที่หาดทรายแดง โดยอาศัยเรือเล็กของชาวบ้าน ลำเลียงขึ้นบกแล้วเดินเลาะชายฝั่ง มุ่งทิศใต้ ผ่านบ้านหาดสารพัดพิษ ถึงบ้านหาดเล็ก เวลาประมาณ ๑๖๓๐ ของวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ ตรวจพื้นที่และวางกำลังป้องกันหมู่บ้านหาดเล็กเสร็จเรียบร้อยก็มืดพอดี พื้นที่อำเภอคลองใหญ่ในสมัยนั้น(ปี ๒๕๐๙) จนถึงบ้านหาดเล็ก ซึ่งเป็นหมู่บ้านใต้สุด ยังต้องติดต่อกับตัวจังหวัดตราด โดยทางเรือเท่านั้นระหว่างตลาดอำเภอคลองใหญ่ กับบ้านหาดเล็ก สามารถติดต่อกันได้ทางบกด้วยการเดินเท้า ตามเส้นทางในภูมิประเทศเลียบชายทะเลได้ ซึ่งต้องเดินกัน ๓-๔ ชั่วโมง พื้นที่บริเวณนี้แปลกใหม่สำหรับกำลังนาวิกโยธินหน่วยนี้ การนำทางของชุดปฏิบัติการพิเศษ ๖๑๕ (ชปศ.๖๑๕) ของศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ ๖๑(ศปศ.๖๑)ซึ่งมี เรือโท บุญเชิด จูภาวัง(ปัจจุบัน พลเรือโท)เป็นหัวหน้าชุด ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ ทั้งอำเภอ เป็นผู้ประสานและนำทาง จึงทำให้การเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการของหมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทันเวลา

      กำลังหมวดปืนเล็ก เพิ่มเติมกำลัง เรียกชื่อว่า หมวดปืนเล็ก ๒๐๑ (มว.ปล.๒๐๑) มีกำลัง ดังนี้

      ๑.หมวดปืนเล็ก อัตราปกติ ๔๕ นาย

          ๑.๑ กองบังคับการหมวด ๖ นาย (ผบ.มว.,รอง ผบ.มว.,จ่านำหมวด และพลนำสาร ๓ นาย)

               ๑.๒ ๓ หมู่ปืนเล็ก หมู่ละ ๑๓ นาย

      ๒.ตอนปืนกลเบา กำลังพล ๑๑ นาย (ผบ.ตอน และ ๒ หมู่ ปก.หมู่ละ ๕ นาย) ปืนกลเบา ๒ กระบอก

      ๓.หมู่เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๖๐ มม. (กำลังพล ๕ นาย) ค.๖๐ มม. ๑ กระบอก

      ๔.หมู่พยาบาล กำลังพล ๓ นาย (ผบ.หมู่ และ พลพยาบาล ๒ คน)

      ต่อมาทาง กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน ได้ส่งเจ้าหน้าที่สื่อสารไปให้อีก ๓ นาย (พ.๑,จ.๑ และ พลฯ ๑)

รวมกำลังพล ๖๗ นาย (น.๑, พ.๓, จ.๑๑, พลฯ ๕๒)

      อาวุธหลัก มีปืนกลเบา ๒ กระบอก,เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๖๐ มม. ๑ กระบอก,ปืนเล็กกล ๙ กระบอก นอกนั้น ปืนเล็กยาว แบบ ๘๘ (ปลยบ.๘๘)

 
 

     จากกำลังพลขนาดหน่วยอาวุธหลักดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับงานที่ไปทำ อีกทั้งการเพิ่มเติมกำลังกระทำได้ยากลำบาก ไม่มีใครใน กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน คิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรง คาดว่าส่งกำลังไปป้องกัน ควบคุมสถานการณ์สักระยะหนึ่ง ก็คงถอนกลับได้ เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้ว เมื่อเดือน มกราคม ๒๕๐๘ ทหารกัมพูชายิงปืนเล็ก ปืนกล เข้ามาในตลาดอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นผลให้ กองทัพเรือต้องส่งกำลัง กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน เกือบทั้งกองพัน โดยมี ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒ นาวาโท วิศิษฐ์ หาสุณหะ คุมกำลังไปเอง กำลังทั้งหมดไปเฝ้าป้องกัน อำเภอคลองใหญ่ อยู่ประมาณ ๑ เดือน เหตุการณ์ไม่มีอะไร จึงถอนกำลังกลับที่ตั้งปกติ ครั้งนี้เหตุเกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ใต้สุดเขตแดนของตัวจังหวัด จึงส่งไปเพียง ๑ หมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง อนึ่ง อำนาจของ ผู้บังคับกองพัน ฯ สามารถส่งกำลังหน่วยทหารเคลื่อนย้ายออกจากที่ตั้งปกติไประงับเหตุร้าย หรือป้องกันความสงบเรียบร้อยได้ทันทีด้วยกำลังไม่เกิน ๑ หมวด

      รุ่งขึ้นวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๐๙ ปรับแนวการวางกำลังป้องกัน ปรับปรุงหลุมบุคคล วางกำลังอยู่ในหลุมบุคคล เหมือนการตั้งรับแบบหลุมบุคคลคู่ เตรียมการยิงของปืนต่าง ๆ ทั้งเวลากลางวัน และเวลากลางคืน ส่งกำลัง ๑ หมู่ปืนเล็ก(หย่อนกำลัง) ซึ่งเป็นกองหนุนขึ้นลาดตระเวนแนวสันเขา จากบ้านหาดเล็กตามแนวสันเขาเขตแดนลงทิศใต้ จนสุดเขตพื้นราบหมู่ลาดตระเวนตรวจพบ ร่องรอยรังปืนกล ๒ แห่ง และแนววางกำลังพลปืนเล็ก บนสันเขา ประมาณว่ามีกำลัง ๑๐–๑๕ คน มีปลอกกระสุนปืนเล็กตกอยู่เกลื่อน จุดตรวจการณ์มองเห็นหมู่บ้านหาดเล็ก คงจะเป็นจุดที่ ทหารกัมพูชายิงปืนเล็ก ปืนกล เข้ามาในหมู่บ้านหาดเล็ก เมื่อเช้าวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ เมื่อพบจุดอ่อนเช่นนี้ จึงได้ส่งหมู่ลาดตระเวน(๙ คน)ขึ้นซุ่มโจมตีบนสันเขาในเวลากลางวันทุก ๆ วัน ผลการปฏิบัติเช่นนี้ ได้ปะทะหมู่ลาดตระเวนของกัมพูชา ๑ ครั้ง ฝ่ายเราได้เปรียบปลอดภัย ส่วนกัมพูชาบาดเจ็บ ถอนตัวลงไปจากสันเขา ตั้งแต่นั้นมา ฝ่ายเราจึงครอบครองพื้นที่สันเขา บริเวณนั้นตลอด กำลังที่ส่งขึ้นสันเขา สลับด้วยการซุ่มโจมตีบ้าง ลาดตระเวนบ้าง

     ในช่วงเดือน มกราคม ๒๕๐๙ มีการปะทะกับทหารกัมพูชาบ่อยครั้ง โดยทหารกัมพูชาจะลอบเข้ามายิงรบกวนแนวป้องกันของฝ่ายเราในเวลากลางคืน เริ่มครั้งแรก ตั้งแต่คืนวันที่ ๔ มกราคม ยิงรบกวนเป็นระยะ ๆ ครั้งละ ๕–๑๐ นาที คืนละ ๔–๖ ครั้ง เหมือนว่าจะกวนไม่ให้พวกเราหลับนอน เวลาที่เข้ามายิงรบกวน ระหว่าง ๒๑๐๐–๐๔๐๐ บางวันยืดมาถึง ๐๕๓๐ เข้ามาเป็นกลุ่ม ๆ ละ ๒–๕ คน เข้ามาอย่างผู้ชำนาญภูมิประเทศมาก บางครั้งมีสุนัขนำมาด้วย ในที่สุดพวกเราต้องปรับตัว นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน และส่งกำลังออกซุ่มเป็นพื้นที่ในเวลากลางคืน ทหารกัมพูชา ตกเข้ามาอยู่ในที่ซุ่มของเรา ๑ ครั้ง แต่ปืนเล็กกลผู้เปิดฉากการยิงขัดข้องจึงไม่ได้ผล

 
 

      ในวันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๐๙ เวลาประมาณ ๑๕๐๐ มีการปะทะกันระหว่างหมู่ลาดตระเวนของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายกัมพูชาจึงยิงปืนกล และปืนกลหนัก ขนาด .๕๐ นิ้ว เข้ามาที่บ้านหาดเล็ก จำนวนมาก ฝ่ายเราโต้ตอบ กลับไปด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มม. ไปที่ค่ายทหารกัมพูชาที่หาดทรายยาว(ห่างจากบ้านหาดเล็ก ๑,๐๐๐–๑,๒๐๐ เมตร)ฝ่ายกัมพูชาโต้ตอบกลับมาด้วยปืนใหญ่ ขนาด ๓ นิ้ว จากเขาโอบยาม(ห่างจากบ้านหาดเล็ก ประมาณ ๒,๐๐๐–๒,๕๐๐ เมตร) ซึ่งระยะไกลเกินอาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มม.ที่ฝ่ายเรามี ยิงมาประมาณ ๑๔–๑๖ นัด กระสุนปืนใหญ่ ตกบริเวณหน้าแนว(ด้านใต้)และปีกซ้าย(ด้านตะวันออก)ไม่ตกในหมู่บ้าน ฝ่ายกัมพูชาหยุดยิงประมาณ ๑๗๓๐ ถูกปืนใหญ่ยิงอยู่ฝ่ายเดียวเกือบ ๒ ชั่วโมง โดยไม่มีอาวุธที่จะยิงโต้ตอบถึงปืนใหญ่ข้าศึก ถูกเขาทำอยู่ฝ่ายเดียวเช่นนี้ มันหงุดหงิดได้แต่คอยว่ามันจะยิงมาอีกเมื่อใด จะตกที่ไหนแต่ก็จำที่ตั้งปืนใหญ่ของมันไว้แล้ว ติดต่อกับ เรือหลวงพาลี ก็ไม่ได้ เลยไม่มีผู้ช่วย ผลการยิงวันนี้ กำลังพลปลอดภัย แต่สูญเสียยุทโธปกรณ์จากหัวกระสุนปืนกลหนัก ขนาด .๕๐ นิ้ว ดังนี้

      - วิทยุมือถือ โตกาย ๑ เครื่อง

      - หมวกเหล็ก และรองใน ๑ ชุด(ทะลุ)

      - กระติกน้ำ ๑ ลูก

      ได้รายงานผลการสู้รบให้ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน ซึ่งเคลื่อนกำลังกองพันมารวมพลอยู่ที่ จังหวัดตราด(บริเวณใกล้เคียงศาลากลาง จังหวัดตราด)ได้ทราบรายละเอียด รวมทั้งที่ตั้งปืนใหญ่ข้าศึกที่เขาโอบยามด้วย ท่านจึงส่งเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม. ๑ ตอน(๒ กระบอก)และ ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ๗๕ มม. ๑ ตอน(๒ กระบอก)และเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มม. อีก ๑ กระบอก ให้ เรือโท พัฒนะ จิรนันท์(รอง ผู้บังคับหมวดเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม.) คุมมาเสริมกำลังให้โดยด่วน ภายในเช้ามืดวันที่ ๒๒ มกราคม นั่นเอง และได้เปลี่ยนนามหน่วยเป็น หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๐๑(ฉก.นย.๒๐๑)ผู้เขียนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก ตั้งแต่ ๑๗ มกราคม ๒๕๐๙ เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๐๑ ต่อไป เรือโท พัฒนะ จิรนันท์ มาเป็น รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๐๑ ด้วยปืนทั้งหมดมาถึงบ้านหาดเล็ก ใน ๒๒ มกราคม ๒๕๐๙ เวลา ๐๖๑๕ ใช้เวลาเดินทางในเรือประมง ๑๐ ชม. เกือบเลยเข้ามาในเขตเขมร

      พอได้อาวุธหนักยิงไกลมาสนับสนุนจึงแยกวาง ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ๗๕ มม.ไว้หน้าแนวด้านใต้ ใกล้หลักเขต ๗๓ เล็งตรงเห็นที่ตั้งปืนใหญ่ ซึ่งตรวจการณ์เห็นชัดเจน(ไม่เห็นปืนเห็นแต่ที่หมาย) และแยกเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม.ไปตั้งบนเนินบริเวณวัดบ้านหาดเล็ก(ปัจจุบันเรียกวัดเกษมมาราม)ประมาณ ๐๙๐๐ ฝ่ายกัมพูชายิงปืนใหญ่ขนาด ๓ นิ้ว เข้ามาอีก คงจะยิงหลังอาหารเช้า ฝ่ายเราจึงโต้ตอบด้วยปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ๗๕ มม. และเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม.ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังยิงไปนัดที่ ๓ ก็เข้าเป้า ปืนใหญ่ข้าศึกหยุดยิง นัดที่ ๔ สั่งใช้กระสุนเจาะเกราะเผื่อว่า ถ้ามีป้อมปืนก็สามารถทำลายได้ ใช้ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ไป ๕ นัด หลังจากนั้น เครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม. ก็ยิงลงที่หมายตามมาอีก จึงให้ใช้กระสุนฟอสฟอรัสเผาส่งไปเลย จุดนั้นจาก ข่าวแจ้งว่า มีปืนใหญ่ ๓ นิ้ว ๒ กระบอก มีนายทหารยศร้อยเอกเป็นผู้ควบคุมปืนใหญ่ถูกทำลายหมด วันนี้ เรือหลวงพาลี ได้เข้ามาอยู่พื้นที่ด้วย หลังจากที่ได้ทำลายปืนใหญ่ที่เขาโอบยามแล้ว จึงขอให้ เรือหลวงพาลี ใช้ปืนกล ๔๐ มม. กระสุนเพลิง ยิงทำลายค่ายหาดทรายยาวด้วย ผู้บังคับเรือ เรือหลวงพาลีคือ เรือเอก ชนินทร์ สาครสินธ์(ยศสุดท้าย พลเรือเอก)วันที่ ๒๓ มกราคม กัมพูชาส่งเรือพีซี หมายเลข ๓๐๑ มาระดมยิงบ้านหาดเล็ก เรือนี้มีขนาดใกล้เคียงกับเรือหลวงพาลี แต่มีปืนขนาด ๓ นิ้ว ๒ กระบอก มากกว่า เรือหลวงพาลี ซึ่งมีเพียง ๑ กระบอก กระสุนปืนเรือตกในหมู่บ้าน ๒ นัด นัดหนึ่งตกใส่บ้านห่าง บก.หน่วยเพียง ๕๐ เมตร จึงร้องขอ เรือหลวงพาลีมาช่วย เมื่อเรือหลวงพาลี มาถึงจึงเปลี่ยนเป็นการดวลปืนเรือต่อไป ในที่สุดเรือฝ่ายกัมพูชาก็ถอยหนีกลับไปทางใต้ ฝ่ายเราปลอดภัย หลังจาก วันที่ ๒๓ มกราคม เป็นต้นมา จนสิ้นเดือนมกราคมก็ไม่ถูกรบกวนจากอาวุธหนักอีกเลย แต่ยังคงมีการส่งกำลังกลุ่มย่อย ๆ เข้ามายิงรบกวนแนวป้องกันฝ่ายเราอยู่เสมอ ๆ

      วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๐๙ ได้ปรับการวางกำลังใหม่ โดยถอยกำลังส่วนใหญ่ไปอยู่ที่บ้านหาดสารพัดพิษ(เหนือบ้านหาดเล็ก ประมาณ ๑ กม.เศษ)ซึ่งเป็นจุดที่ปกปิดกำบังจากปืนเรือ และการตรวจการณ์ จากทะเล คงกำลัง ๑ หมู่ปืนเล็ก และเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มม. ๑ กระบอก ไว้ที่บ้านหาดเล็ก

 
 

     วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๙ ได้รับกำลังเพิ่มเติมจาก กรมนาวิกโยธิน อีก ๑ หมู่ลาดตระเวน จากกองร้อยลาดตระเวน นย. มี เรือโท ประพันธ์ โชติอาภรณ์ เป็นผู้บังคับหมู่ จึงมอบภารกิจลาดตระเวนสันเขา ให้หน่วยนี้ทำแทนหมู่ปืนเล็กต่อไป ก่อนที่จะมีการดวลปืนใหญ่ ใน ๒๒ มกราคม นั้น ประชาชนได้อพยพออกไปจากบ้านหาดเล็กและบ้านสารพัดพิษ จนหมดสิ้นแล้ว การสู้รบใน ๒๒,๒๓ มกราคม จึงไม่มีประชาชน ให้ต้องเป็นห่วง

      กรมนาวิกโยธิน ได้ส่งปืนใหญ่ ขนาด ๗๕ มม.เพิ่มเติมให้อีก ๒ กระบอก มีนายทหารเหล่าปืน ๓ นาย รวมเป็นมีนายทหารสัญญาบัตร ๖ นาย ช่วงนี้ไม่เหงาแล้ว ภายหลังได้เปลี่ยนจาก ปืนใหญ่เบาวิถีโค้ง ๗๕ มม. เป็น เครื่องยิงลูกระเบิด ๔.๒ นิ้ว แทน

      ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ เรือเอก มนัส ปิ่นกุลบุตร(ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๒ กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน ยศสุดท้าย พลเรือเอก เกษียณราชการแล้ว)ไปผลัดเปลี่ยนผู้เขียน มีการสู้รบกัน ด้วยอาวุธหนักด้วย เครื่องยิงลูกระเบิด ๘๒ มม.จากกัมพูชาจน เรือเอก มนัส ปิ่นกุลบุตร, จ่าเอก บุญเย็น มาลากรอง ผู้บังคับหมู่ เครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม. และฝ่ายเราบาดเจ็บหลายคน การยิงโต้ตอบกับด้วยกระสุนวิถีโค้ง คงมีเป็นครั้งคราว แต่ช่วงหลังไม่สามารถตรวจที่ตั้งยิงของฝ่ายตรงข้าม จึงเป็นการยิงรบกวนซึ่งกันและกัน

      ในภาคแรกนี้ กำลังพลจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนทุก ๆ เดือน กำลังทหารราบทะยอยเปลี่ยนครั้งละ ๑ หมู่ปืนเล็ก การผลัดเปลี่ยนกำลังพลกระทำโดยทางเรือ เสบียงสด กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน จัดส่งให้ทางเรือ โดยจัดซื้อเพิ่มเติมจากอำเภอเมือง จังหวัดตราดบ้าง อำเภอคลองใหญ่บ้าง น้ำจืดส่งไปให้โดย เรือ LCU. เป็นครั้งคราว ภาคแรกถอนกำลังกลับในปี ๒๕๑๕ รวมเวลาประมาณ ๗ ปี

      ภาคที่สอง เว้นไปประมาณ ๓ ปี พอปี ๒๕๑๘ กองทัพเรือส่งกำลังนาวิกโยธิน ไปอยู่ที่บ้านหาดเล็กและหาดสารพัดพิษอีก เป็นภาคที่สอง และอยู่ต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยไม่มีสิ่งบ่งเหตุว่าจะถอนกำลังกลับเมื่อใด แต่ในระยะนี้ การคมนาคมไปบ้านหาดเล็ก มีเส้นทางถนนจาก อำเภอเมืองตราด ไปถึงบ้านหาดเล็กแล้ว การส่งกำลังต่าง ๆ จึงกระทำได้สะดวก แต่ในระยะเหตุการณ์วิกฤติ ก็เป็นจุดล่อแหลมที่ฝ่ายเราจะถูกซุ่มโจมตี ซึ่งเกิดเหตุการณ์เช่นนี้หลายครั้ง จนฝ่ายเราสูญเสียมากมาย ดังเหตุการณ์ที่จะได้ทราบจากการบันทึกของท่านอื่น ๆ ต่อไป

 
 
บทเรียนจากยุทธการบ้านหาดเล็ก ภาคแรก พอสรุปได้ดังนี้
 

      ๑.ฝ่ายตรงข้ามจะลักลอบเข้ามายิงรบกวนแนวป้องกันฝ่ายเราในเวลากลางคืนเป็นหลัก การยิงปืนในเวลากลางคืนของเราไม่ได้ผล เนื่องจากทหารนาวิกโยธิน ยังไม่เคยได้รับการฝึกยิงปืนในความมืดมาก่อน จากสาเหตุนี้ กรมนาวิกโยธิน จึงให้กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน ฝึกยิงปืนในความมืดทั้งกองพัน ในต้นปี ๒๕๐๙ นั่นเอง ครูฝึกคือ เรือโท วิสุทธิ์ พิทักษ์เขตต์, เรือโท สมภูรณ์ สุนทรเกตุ และผู้บันทึก เรือเอก วสินธ์ สาริกกะภูติ โดยใช้ตำราของกองทัพบก สนามฝึก คือ สนามยิงปืนบ้านอ่าง ตำบลท่าช้าง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี นาวิกโยธินรุ่นใหม่คงไม่รู้จักสนามยิงปืนแห่งนี้ ช่วงนั้นเป็นทั้งสนามฝึกรบในป่า ปัจจุบันเป็นสวนผลไม้

      ๒.การสื่อสารทางวิทยุในพื้นที่ บ้านหาดเล็ก หาดสารพัดพิษ ในห้วงเวลา ๒๔๐๐–๐๔๐๐ มักติดต่อไม่ได้ ไม่ว่าวิทยุของฝ่ายทหาร หรือฝ่ายมหาดไทย ต้องใช้ส่งผ่านทางหมู่เรือชายแดน

      ๓.การส่งเสบียงเป็นปัญหาใหญ่ ต้องลำเลียงโดยทางทะเลเท่านั้น เสบียงส่วนใหญ่จัดหาจากจังหวัดจันทบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดตราด ตัวอำเภอคลองใหญ่เองยังต้องนำข้าวของกินจากจังหวัดตราด พึ่งได้บ้างเล็กน้อย

      ๔.น้ำดื่ม และน้ำหุงต้ม ในฤดูแล้ง ต้องรับการส่งให้จากเรือของกองทัพเรือ

      ในภาคแรกยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญสมควรที่จะบันทึกไว้เพิ่มเติมจากพลเรือโท วสินธ์ สาริกกะภูติ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ดังนี้ คือ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๒๐๑ นอกจากจะต้องวางกำลังป้องกัน การรุกล้ำอธิปไตย โดยรอบหมู่บ้านหาดเล็กแล้ว ยังต้องจัดชุดลาดตระเวนแนวสันเขาจนถึงหลักเขตที่ ๗๓ ด้วยการลาดตระเวนตามปกติ ในการลาดตระเวน จ่าเอก ชัยโรจน์ ปานสุข(ยศขณะนั้น)ได้เหยียบกับระเบิดของฝ่ายกัมพูชา ทำให้เท้าขวาขาด ปัจจุบันยังรับราชการอยู่ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้รับยศเป็น นาวาตรี ชัยโรจน์ ปานสุข เหตุการณ์ที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ เมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๙ เวลา ๐๖๓๐ ฝ่ายกัมพูชาได้ทำการระดมยิงบ้านหาดเล็ก ด้วยปืนใหญ่ ขนาด ๗๕ มม. เครื่องยิงลูกระเบิด ปืนกลและปืนเล็ก อย่างหนัก ในขณะนั้น ทางหมวดเรือลาดตระเวนชายแดนได้จัดส่ง เรือรบหลวงสุครีพมาสนับสนุนกำลังของหน่วยนาวิกโยธินจอดอยู่ที่บ้านหาดเล็กพอดี จึงได้ใช้ปืนเรือยิงสนับสนุนกำลังทางบกด้วย ทำให้ฝ่ายกัมพูชาต้องหยุดยิง คาดว่าคงได้รับความเสียหายจากปืนเรือของฝ่ายเรา ส่วนกำลังฝ่ายเราปลอดภัย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ทหารกัมพูชาจำนวนหนึ่ง ได้เข้ามาทำการโจมตีแนวตั้งรับของฝ่ายเราทางด้านหาดทรายยาว ทำให้ พลฯ วิจารณ์ ฤกษ์งาม พลกระสุนหมู่เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๖๐ มม.ถูกกระสุนปืนของฝ่ายตรงข้ามที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งแรกในเหตุการณ์บ้านหาดเล็ก ทางราชการได้พิจารณาปูนบำเหน็จ ให้ได้รับยศเป็น พันจ่าตรี วิจารณ์ ฤกษ์งาม

 
 
     เหตุการณ์ในภาคที่สอง เริ่มตั้งแต่เขมรแดงฝ่ายพอลพต เข้ายึดครองกัมพูชา ตั้งแต่เดือน เมษายน ๒๕๑๘ ทำให้บ้านหาดเล็ก ถูกรบกวนจาก กำลังเขมรแดงบ่อยครั้ง กรมนาวิกโยธิน จึงสั่งการให้กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน จัดกำลัง ๑ กองร้อยปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง สนับสนุนด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๔.๒ นิ้ว สนธิกำลังเป็นหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๘๒(ฉก.นย.๑๘๒)เป็นหน่วยเฉพาะกิจที่ ๒ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ กรมนาวิกโยธินได้จัดหน่วยเฉพาะกิจออกปฏิบัติงาน ๕ หน่วย คือ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๘๑(ฉก.นย.๑๘๑)ปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามขบวนการโจรก่อการร้าย ที่จังหวัดนราธิวาส หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๘๓(ฉก.นย.๑๘๓)ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดน บ้านโอลำเจียก อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๘๔(ฉก.นย.๑๘๔)ปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์แทนยามรักษาการณ์(ไทยการ์ด)และหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๘๕(ฉก.นย.๑๘๕)ปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามขบวนการก่อการร้ายที่จังหวัดนราธิวาส และในช่วงหนึ่งของภาคที่สองนี้ พลเรือตรี สุรินทร์ รอดสวาสดิ์ ได้กรุณาเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ในขณะที่ท่าน เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๑๘๒ ดังต่อไปนี้
 
 

      เหตุการณ์ในครั้งนี้ อยู่ในช่วงที่ พัน.ร.๒ ฯ จัดกำลัง ๑ กองร้อยปืนเล็กเพิ่มเติมกำลังเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ โดยมี น.ต.สุรินทร์ รอดสวาสดิ์(ยศในขณะนั้น)ตำแหน่ง ผบ.ร้อย.บก.และ บร.พัน.ร.๒ ฯ เป็น ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ การปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ด้วยการวางกำลังป้องกันรอบหมู่บ้าน ดังนั้น การลาดตระเวนโดยรอบพื้นที่จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการเข้าตีของฝ่ายข้าศึก กำลังที่ปฏิบัติภารกิจ ได้รับคำสั่งจัดชุดลาดตระเวนหมุนเวียนกันทุก ๆ วัน และในวันเกิดเหตุ วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๒๐ ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ สั่งการให้จัดชุดลาดตระเวนบนสันเขาบรรทัด บริเวณหน้าแนวตั้งรับ ในวันนั้นเป็นหน้าที่ของ จ.อ.สวรรค์ ดวงจันทร์ ผบ.หมู่ ปล.จะต้องเป็นหัวหน้าชุดลาดตระเวน จัดกำลังหมู่ปืนเล็ก จำนวน ๑๓ นาย สมทบด้วยผู้ตรวจการณ์หน้า ค.๔.๒ นิ้ว ๑ นาย พลสื่อสาร ๑ นาย รวม ๑๕ นาย และมี จ.ท.บุญช่วย เทียบเทียม รอง ผบ.หมู่ เป็นรองหัวหน้าชุดลาดตระเวน ชุดลาดตระเวนเริ่มเดินทางออกจากฐานประมาณเวลา ๐๙๐๐ ขณะชุดลาดตระเวนออกทำการลาดตระเวนบนสันเขา ได้ประมาณ ๓๕ นาที ได้เกิดการปะทะกับกำลังฝ่ายตรงข้ามระหว่างการปะทะชุดลาดตระเวน ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับ บก.ฉก.นย.๑๘๒ ได้ ในขณะเดียวกัน ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ พยายามติดต่อกับชุดลาดตระเวน ก็ไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้อาวุธสนับสนุน ค.๔.๒ นิ้ว ยิงคุ้มกันให้ชุดลาดตระเวน จึงไม่ทราบบริเวณพื้นที่ที่แน่นอน ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ ได้ประมาณสถานการณ์บริเวณพื้นที่ปะทะจากเวลาที่ออกลาดตระเวนประกอบกับเสียงปะทะกัน จึงสั่งการให้ ตอน ค.๔.๒ นิ้ว ทำการยิงคุ้มกันชุดลาดตระเวน บริเวณดังกล่าว เมื่อเสียงการปะทะหยุดลง ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ จึงได้รับรายงานจากชุดลาดตระเวนว่า ชุดลาดตระเวนปะทะกับกำลังฝ่ายตรงข้ามขณะทำการลาดตระเวนบนสันเขาบรรทัด ผลการปะทะฝ่ายเราเสียชีวิต ๕ นาย ได้แก่ ผู้บังคับหมู่,รองผู้บังคับหมู่ และพลทหาร ๓ นาย ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ จึงสั่งการให้จัดกำลังหมู่ลาดตระเวนขึ้นไปช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกลับลงมา การขึ้นไปช่วยเหลือของหมู่ลาดตระเวนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องขึ้นไป ช่วยเหลือโดยเร็ว ด้วยการใช้เส้นทางขึ้นสันเขาที่ใกล้ที่สุด ทำให้ไม่สามารถเลือกเส้นทางที่สะดวกได้ จำเป็นต้องเดินทางในพื้นที่ป่ารกและสูงชันมาก การขึ้นไปช่วยเหลือดำเนินการอย่างเร่งรีบด้วยความระมัดระวัง และสามารถนำผู้บาดเจ็บและศพ ผู้เสียชีวิตกลับลงมาจากสันเขาได้สำเร็จ ในระหว่างหมู่ลาดตระเวนขึ้นไปช่วยเหลือทาง บก.ฉก.นย.๑๘๒ ได้ดำเนินการขอ ฮ.จาก บก.กจต.เพื่อนำศพผู้เสียชีวิตกลับไปดำเนินการในพื้นที่ส่วนหลัง สำหรับรายชื่อข้าราชการและทหารที่เสียชีวิตในการปฏิบัติภารกิจ ครั้งนี้ จำนวน ๕ นาย ได้แก่

       ๑.จ.อ.สวรรค์ ดวงจันทร์ ผบ.หมู่ ลว.

       ๒.จ.ท.บุญช่วย เทียบเทียม รอง ผบ.หมู่ ลว.

       ๓.พลฯ ห่อ พุกลา

       ๔.พลฯ บุญส่ง แซ่ไหล

       ๕.พลฯ กุหลาบ สุวรรณ

 
 

      บทเรียนที่ได้รับจากปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายเราสูญเสียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ทราบความเคลื่อนไหวของกำลังฝ่ายตรงข้ามและผู้บังคับหน่วย จะต้องมีประสบการณ์ที่เพียงพอในการปฏิบัติ สำหรับหน่วยสนับสนุน ต้องเตรียมให้การสนับสนุนตลอดเวลา ในระหว่างมีปฏิบัติ เพื่อความรวดเร็วเมื่อได้รับการร้องขอการปะทะกับกำลังฝ่ายตรงข้ามในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะที่ ฉก.นย.๑๘๒ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่การปะทะครั้งนี้เป็นการปะทะที่เกิดจากกำลังฝ่ายข้าศึกเข้าตีที่มั่นตั้งรับของฝ่ายเราอย่างหนัก เพื่อเข้ายึดที่ตั้งของ ฉก.นย.๑๘๒ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๒๐ ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ ในขณะนั้นได้แก่ น.ต.นรินทร์ อนันตสุข กำลังฝ่ายตรงข้ามได้เลือกเวลาในการเข้าตีในตอนเช้ามืด ซึ่งกำลังของฝ่ายเราส่วนใหญ่กำลังนอนหลับอยู่ในบังเกอร์ตามแนวตั้งรับ คงมีแต่ ผู้ที่มีหน้าที่เข้าเวร–ยาม เท่านั้น ที่คอยระวังป้องกันอยู่ตามจุดต่าง ๆ ตลอดแนวตั้งรับ กำลังฝ่ายตรงข้ามได้เริ่มเข้าตีด้วยการใช้อาวุธ จรวดอาร์พีจี ยิงมายังแนวตั้งรับและตามด้วยอาวุธปืนเล็ก ทำการระดมยิงอย่างหนักทางด้านปีกซ้ายของแนวตั้งรับ ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของ หมู่ ปล.ที่ ๓ มี จ.อ.สมปอง ขวัญยืน(ยศในขณะนั้น)เป็น ผบ.หมู่ ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำการยิงต่อสู้อย่างหนัก เพื่อหยุดยั้งการเข้าตีของฝ่ายข้าศึก เนื่องจากฝ่ายข้าศึกมีกำลังมากกว่า มีการเตรียมการเข้าตี และเลือกเวลาได้อย่างเหมาะสม ทำให้ได้เปรียบต่อกำลัง ฝ่ายเราที่ตั้งรับในพื้นที่ดังกล่าว ผบ.ฉก.นย.๑๘๒ จึงสั่งการให้ จ.อ.ปรีชา ชูเมือง นำกำลัง ๑ หมู่ เข้าเสริม พร้อมอาวุธปืนกลยิงช่วยตลอดเวลา เพื่อให้หยุดยั้งการเข้าตีของฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่สามารถหยุดการเข้าตีของฝ่ายตรงข้ามได้ จนกระทั่งกำลังฝ่ายตรงข้ามเกือบจะ ตีผ่านแนวตั้งรับของฝ่ายเราเข้ามาได้ ในขณะนั้น จ.อ.สมปอง ฯ จึงตัดสินใจขอ ค.๔.๒ นิ้ว ยิงป้องกันในระยะใกล้บริเวณหน้าแนวตั้งรับ ทำให้สามารถหยุดการเข้าตีของฝ่ายตรงข้ามได้สำเร็จ และฝ่ายตรงข้ามได้ล่าถอยไปในที่สุด ผลการปะทะในครั้งนี้ ฝ่ายเราได้รับบาดเจ็บ หลายนาย แต่ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต

      การป้องกันฐานที่มั่นตั้งรับไว้ได้ในครั้งนี้เกิดจากการใช้คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดีของ ผบ.หมู่ สั่งการและควบคุมหน่วยให้สามารถต่อสู้กับข้าศึกในสภาพที่เสียเปรียบ ตลอดจนการวางแผนในการใช้อาวุธสนับสนุนป้องกันฐานในระยะใกล้ขอบที่มั่น สร้างความสูญเสีย ให้กำลังฝ่ายตรงข้ามที่กำลังเข้าตีบริเวณขอบหน้าที่มั่น จนต้องถอนกำลังออกไป