ยุทธการบ้านชำราก
บ้านชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด
 

      เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๘ กองกำลังทหารฝ่ายเวียดนาม สังกัด พล.ร.๓๓๙ จำนวน ๒ กรม ร. ปฏิบัติการโจมตีกวาดล้าง กำลังทหารกัมพูชาประชาธิปไตย( กพป.) ซึ่งมีฐานที่มั่น ตามแนวชายแดนบริเวณเทือกเขาบรรทัดตรงข้ามบ้านชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด การโจมตีของกองกำลังเวียดนามซึ่งมีกำลังกำลังรบและอาวุธสนับสนุนที่เหนือกว่าทำให้กำลัง ของ กพป.ไม่สามารถต้านทานการเข้าตีของกำลังเวียดนามได้ จึงแตกถอยร่นเข้ามาในเขตประเทศไทย กำลังเวียดนามรุกไล่ติดตามเข้ามาในเขตประเทศไทยและทำการยึดพื้นที่ดัดแปลง ที่มั่น ตลอดจนสร้างที่มั่นแข็งแรง ทำการตั้งรับตั้งแต่แนวเส้นกริดนอน ทียู.๕๔ แนวเส้นกริดนอน ทียู.๔๔

      การวางกำลังบางพื้นที่ลึกเข้ามาในเขตไทยประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ เมตร สนับสนุนด้วยอาวุธ ป.สนาม,ปรส.,ค. จำนวนมาก และมีกองหนุนอีก ๑ กรม ร. วางกำลังในเขตกัมพูชาบริเวณพิกัด ทียู.๕๓๕๐ ห่างจากแนวชายแดนประมาณ ๓ กม. ดำเนินการดัดแปลง ที่มั่นแข็งแรง คูสนามเพลาะ บริเวณสันเขาจากการรุล้ำอธิปไตยของไทยโดยกำลังทหารเวียดนามดังกล่าว ผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด พลเรือโท ประเสริฐ น้อยคำศิริ จึงดำเนินการวางแผนปฏิบัติการตีโต้ตอบเพื่อผลักดันกำลังเวียดนามที่รุกล้ำเข้ามาให้ออกนอกเขตแดนไทยโดยเร็ว

      การประชุมวางแผนตีโต้ตอบเริ่มขึ้นเมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๘ ประกอบด้วย ผบ.หน่วยต่างๆและฝ่ายอำนวยการ เพื่อจัดทำแผนการตีโต้ตอบ โดย ผบ.กจต.ตกลงใจให้ พัน.ร.๓ กจต. ทำการเข้าตีใน ๐๔๐๗๐๐ พ.ค.๒๕๒๘ เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๘ เจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศ ประกอบด้วย ศยอ.ศปก.ทอ.จำนวน ๔ นาย โดยมี รอง ผอ.ศปก.ทอ. เป็นหัวหน้าคณะเดินทางประสานวางแผนการสนับสนุน ทางอากาศของ ทอ.ในการตีโต้ตอบ

      พัน.ร.๓ กจต. จัดกำลังเข้าตีโต้ตอบประกอบด้วย กำลัง ๓ กองรบ (กองรบที่ ๑ และกองรบที่ ๒ ประกอบด้วยกำลัง ๑ กองร้อย ปล. เพิ่มเติมกำลัง, ๑ กองร้อย ทพ.นย. และ ๑ หมู่ทหารช่างกองรบที่ ๓ ประกอบด้วย ๒ กองร้อย ทพ.นย. และ ๑ หมู่ ทหารช่าง) ๒ กองร้อย ฉก.ตชด. และ ๒ มว.ลว.ยน.กจต. มีอาวุธสนับสนุนประกอบด้วย ๒ ร้อย.ป.๑๕๕ มม., ๒ ร้อย.ป.๑๐๕ มม.และร้อย.ค.๔.๒ นิ้ว สำหรับกำลังสนับสนุนทางอากาศประกอบด้วย ชสอต.๑๓, ฝูงบิน ๒๐๗ และหน่วยบิน ๒๐๒ ของ ทอ.

       การวางแผนตีโต้ตอบของ พัน.ร.๓ กจต. ได้เริ่มดำเนินการทันทีภายหลังได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือ และได้ออกคำสั่งยุทธการให้หน่วยรองและหน่วยสนับสนุนอื่นๆ เมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ณ ทก.ยุทธวิธี บริเวณวัดตะกาง อ.เมือง จว.ตราด จากนั้นหน่วยต่างๆ เคลื่อนย้ายเข้าที่รวมพลตามคำสั่งที่ได้รับดังนี้

       - พัน.ร.๓ กจต. โดยมี น.ต.บัญฑูรย์ วรรณสุทธิ์ เป็น ผบ.พัน.ร.๓ ฉก.นย.กจต. เคลื่อนย้าย ทก.ยุทธวิธี จากวัดตะกาง(พิกัด ทียู.๔๒๘๕๒๗)ไปเข้าที่ตั้งบริเวณวัดชำราก(พิกัด ทียู.๔๖๕๔๙๖)เมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๕๐๐ และสนธิกำลัง กองรบที่ ๑ ประกอบด้วย ร้อย.ปล.ที่ ๒ฯ,ร้อย ทพ.นย.๕๐๑ และ ๑ มว.ฉก.ตชด.๒ โดยมี ร.ท.พายุ เหล็กเพชร เป็น ผบ.กองรบที่ ๑

       - พัน.ร.๒ กจต. เคลื่อนย้ายกำลัง ร้อย.ปล.ที่ ๒ฯ จาก บ.จางวาง อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี ไป บก.ชค.ทพ.นย.๓ บ.เนินสูง อ.เมือง จว.ตราด เมื่อ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๔๐๐ และสนธิกำลังเป็น กองรบที่ ๒ ประกอบด้วย ร้อย.ปล.ที่ ๒ ,ร้อย ทพ.นย.๕๐๔ ,ร้อย.ทพ.นย.๕๐๕ และ ๑ มว.ฉก.ตชด.๔ โดยมี ร.ท.เกรียงเดช รัตนปัญญากุล เป็น ผบ.กองรบที่ ๒

      - ฉก.ทพ.นย. เคลื่อนย้ายกำลัง ร้อย.ทพ.นย. ซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกฟื้นฟู จำนวน ๔ กองร้อย ส่งมอบให้ พัน.ร.๓ ฉก.กจต. เมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๑๐๐ และสนธิกำลังเป็นกองรบที่ ๓ ประกอบด้วย ร้อย.ทพ.นย.๕๑๖,ร้อย.ทพ.นย.๕๐๓,ร้อย.ทพ.นย.๕๒๔ และ ร้อย.ทพ.นย.๕๑๐ โดยมี ร.อ.เกรียงศักดิ์ บุญชู เป็น ผบ.กองรบที่ ๓

      - ร้อย.ลว.ยน.กจต. เคลื่อนย้าย บก.ร้อย.ลว.ยน.(-) มว.ลว.ยน.ที่ ๑ และ มว.ลว.ยน.ที่ ๓ เข้าที่รวมพลขั้นต้นที่วัดคีรีวิหาร พิกัด ทียู.๔๕๓๕๐๖ เมื่อ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๒๓๐๐ มี ร.อ.สนธยา น้อยฉายา เป็น ผบ.ร้อย.ลว.ยน.(-)

      - พัน.ป.กจต.๑ โดยมี น.อ.อดิเรก ลิ้มเจริญ ผบ.พัน.ป.กจต.๑ เคลื่อนย้ายกำลังเข้าที่ตั้งยิงเมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๗๐๐ ดังนี้

      - ทก.พัน.ป.กจต. พิกัด ทียู.๔๑๑๕๑๑

      - ร้อย.ป.๓(ป.๑๐๕ มม.-๔ กระบอก) พิกัด ทียู.๔๓๘๕๑๘

      - ร้อย.ป.๔(ป.๑๐๕ มม.-๔ กระบอก)พิกัด ทียู.๔๓๔๕๓๙

      - ร้อย.ป.๕(ป.๑๕๕ มม.-๒ กระบอก)พิกัด ทียู.๓๒๙๔๓๘

      - ร้อย.ป.๖(ป.๑๕๕ มม.-๒ กระบอก)พิกัด ทียู.๓๙๖๖๐๒

      - ร้อย.ค.หนัก ที่ ๒(ค.๔.๒ นิ้ว -กระบอก)พิกัด ที่ยู.๔๖๒๕๒๒

      - บ.ทร.๓๑ เคลื่อนย้ายกำลังพลบางส่วนไปตั้ง บก.ส่วนหน้าที่สนามบินตราด อ.เมือง จว.ตราด เมื่อ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๐๗๐๐

 
 

        เมื่อทุกหน่วยเข้าที่รวมพลเรียบร้อยใน ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘ การปฏิบัติการตีโต้ตอบด้วยกำลังของ พัน.ร.๓ ฉก.กจต.จึงเริ่มปฏิบัติตามแผนโดยให้กำลัง ๒ กองรบ เข้าตี ๑ กองรบ เป็นกองหนุนเข้ายึดที่หมาย ที่ ๑ ใน ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๐๖๓๐ เริ่มเดินทางออกจากที่รวมพล ก่อนการเข้าตี พัน.ร.๓ ฯ ขอ ป.สนาม ทำการยิง เตรียมบริเวณที่หมายพร้อมทั้งขอ บ.เอฟ- ๕ ของ ทอ. จำนวน ๔ เครื่องโจมตีที่หมาย และเนิน ๓๐๐ (พิกัด ทียู ๕๐๔๕)ด้วยระเบิดขนาด ๕๐๐ ปอนด์ เป้าหมายละ ๔ ลูก เมื่อ บ.ทอ.โจมตีที่หมายเรียบร้อย กองรบที่ ๑ และกองรบที่ ๒ เคลื่อนที่เข้าที่หมาย ๑ ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าทึบและเขาสูงชัน การจัดรูปขบวนเดินทางเป็นแถวตอน เนื่องจากภูมิประเทศบังคับทำให้การเคลื่อนเป็นไปด้วยความล่าช้า นอกจากภูมิประเทศที่สูงชันแล้วกำลังพลต้องแบกสัมภาระที่มีน้ำหนักมากและสองข้างที่เคลื่อนที่ไป เต็มไปด้วยสนามทุ่นระเบิดและขวากหนามแหลมคมต้องเคลื่อนที่ด้วยความระมัดระวังระหว่างเคลื่อนที่ฝนตกทำให้เพิ่มความยากลำบากยิ่งขึ้นการเข้าตีที่หมายที่ ๑ ได้รับการต้านทานจากทหารเวียดนามน้อยมาก กองรบที่ ๑ สามารถเข้ายึดที่หมาย ๑ ได้เมื่อ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๘

      หลังจากยึดที่หมาย ๑ ได้แล้ว ผบ.พัน.ร.๓ ฯ ได้สั่งการให้เข้ายึดที่หมาย ๒ และ ๓ ต่อไป การเคลื่อนที่เข้าหาที่หมาย ๒ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากถูก ต้านทานด้วยอาวุธสนับสนุนของฝ่ายเวียดนามอย่างหนัก อีกทั้งทหารเวียดนามอยู่ในที่มั่นแข็งแรง การเข้าตีครั้งนี้ฝ่ายเราเสียเปรียบอย่างมาก ตลอดเส้นทางการเคลื่อนที ่เต็มไปด้วยกับระเบิดหนาแน่น ต้องให้ทหารช่างกู้กับระเบิดนำหน้าไปอย่างช้าๆการเคลื่อนที่ในรูปขบวนแถวตอนทำให้อำนาจการยิงของฝ่ายเรามีน้อยมากส่วนข้าศึกอยู่ในที่มั่น แข็งแรงมีอาวุธสนับสนุนป้องกันการเข้าตีของฝ่ายเรา ทุกประเภท ในช่วงแรกฝ่ายเราได้รับการสูญเสียมาก ถึงแม้จะขอรับการสนับสนุนจาก ป.สนาม และ บ.ทอ.ยิงทำลายข้าศึก บริเวณที่หมายก็ไม่สามารถทำลายข้าศึกได้เนื่องจากข้าศึกวางตัวในที่มั่นดัดแปลงแข็งแรง กองรบที่ ๑ และกองรบที่ ๒ ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ จึงวางกำลังตั้งรับบริเวณ ที่หมาย ๑ ในระหว่างรอการปรับกำลังใหม่ กำลังที่เข้ายึดที่หมาย ๑ ถูกฝ่ายเวียดนามเข้าตีอย่างหนักแต่ก็ยังสามารถยึดที่หมาย ๑ ไว้ได้

      ในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ กจต.จึงปรับกำลังใหม่โดยสั่งการให้กองหนุนได้แก่ พัน.ร.๑ กรม ร.๑ นย. เคลื่อนย้ายกำลังจากที่ตั้งค่ายแสมสารเข้าพื้นที่รวมพลบริเวณ วัดคีรีวิหารใน ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๘ และสนธิกำลังเป็น พัน.ร.๑ กจต. โดยมี น.ท. เทอดศักดิ์ พรหมศิริ เป็นผู้บังคับกองพันฯ,ร.อ.ณรงค์ แก้วสว่าง ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๑ เป็นนายทหารยุทธการ ประกอบด้วยกำลัง ๓ กองร้อย ปล. ได้แก่ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ ร.อ.ธนะกาญจน์ ใคร่ครวญ เป็น ผบ.ร้อย.ฯ,ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ ร.ท.รัตนะ วงศาโรจน์ เป็น ผบ.ร้อย.ฯ และ ร้อย.ปล.ที่ ๔ฯ ร.ท. ทวี พิกุลทอง เป็น ผบ.ร้อยฯ พื้นที่ จว.ตราด กำลังพลส่วนใหญ่ของ พัน.ร.๑ ฯ ไม่มีโอกาสสำรวจภูมิประเทศทางภาคพื้นดินมาก่อน ดังนั้น ผบ.พันฯ จึงนำ ผบ.ร้อยฯ.และฝ่ายอำนวยการศึกษาภูมิประเทศติดตามสถานการณ์ก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติการและได้รับมอบภารกิจให้ทำการเข้าตีที่หมาย ๓ บริเวณพิกัด ทียู..๕๐๔๕๑๓ เพื่อยึดพื้นที่กลับคืนและผลักดันกำลังทหารเวียดนามให้ออกจากเขตแดนไทย โดยมีเวลาให้ ผบ.ร้อย.ได้เตรียมการและออกคำสั่งให้กำลังพลในหน่วยเข้าใจ ภารกิจและการปฏิบัติของกองร้อย ตลอดจนการจัดเตรียมเสบียงแห้ง(ข้าวเหนียว,มาม่า)และอุปกรณ์ในการตั้งรับเร่งด่วนได้แก่ กระสอบทรายคนละ ๑๐ ใบ การเตรียมการ เป็นไปด้วยความเร่งรีบเนื่องจากมีเวลาจำกัด

      ในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๐๕๓๐ พัน.ร.๑ กจต.เคลื่อนที่เข้าที่รวมพลที่วัดคีรีวิหาร บ.ท่าเลื่อน อ.เมือง จว.ตราด รายงานขึ้นควบคุมทางยุทธการกับ ฉก.นย.ตราด ซึ่ง กจต. จัดตั้งขึ้นควบคุมอำนวยการและสั่งการหน่วยที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่โดยมีกำลังรบหลักได้แก่ พัน.ร.๑ กจต. และพัน.ร.๓ ฉก.กจต. มี ร้อย.ลว.ยน.กจต.(-) เป็นกองหนุน, พัน.ป.กจต. เป็นหน่วยสนับสนุนการรบ เมื่อ พัน.ร.๑ฯ นำกำลังเข้าที่รวมพลเรียบร้อย ผบ.พัน.ฯ จึงนำ ผบ.ร้อยฯและฝ่ายอำนวยการขึ้น บ.๒๐๗ ของ ทอ.เพื่อทำการลาดตระเวน ทางอากาศและออกคำสั่งเข้าตีเพื่อยึดที่หมาย ๓ บริเวณพิกัดทียู.๕๐๗๕๑๔ โดยให้ ร้อย.ปล.ที่ ๒ฯ เป็นหน่วยเข้าตีหลัก ร้อย.ปล.ที่ ๔ฯเป็นหน่วยเข้าตีสนับสนุน และ ร้อย.ปล.ที่ ๓ ฯ เป็นกองหนุนคอยรักษาเส้นทางส่งกำลังตลอดจนส่งกำลังให้ร้อย.ปล. ที่ ๒ฯ และ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ หน่วยต่างๆ ทำควานเข้าใจคำสั่งการปฏิบัติ เตรียมการให้พร้อมใน ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘

 
 

      วันเริ่มปฏิบัติการเข้าตีเพื่อยึดที่หมาย ๓ ใน ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ด้วยกำลัง พัน.ร.ฯสนับสนุนด้วย ป.สนาม และ บ.ทอ. โดยให้ พัน.ร.๑ฯ เข้าตีจากทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ เพื่อยึดที่หมาย ๓ พัน.ร.๓ ฯ เข้าตีจากที่หมาย ๑ ลงทางทิศใต้เพื่อคุ้มครองเส้นทางจาก บ.ชำราก - ทม.๓ - ทม.๒ ซึ่งเป็นเส้นทางแบ่งเขตและจะใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงต่อไป

      พัน.ร.๑ กจต. ใช้กำลัง ๒ ร้อย.ปล.เป็นส่วนเข้าตี,๑ ร้อย.ปล. เป็นกองหนุน เวลา ๐๘๐๐ เริ่มเดินทางฝนตกตลอดเวลา ทำให้เส้นทางขึ้นสันเขาลื่นมากเนื่องจากมีลักษณะ เป็นป่ารกทึบและสูงชัน การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ ซึ่งเป็นกองร้อยนำ สามารถนำกำลังขึ้นสันเขาได้โดยใช้เวลาประมาณ ๖ ชม. เมื่อถึงสันเขา ลักษณะเป็นพื้นราบบนสันเขากว้างประมาณ ๓๐ เมตร ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๔ฯ จึงสั่งการให้วางกำลังตั้งรับแบบเร่งด่วนวางอาวุธสนับสนุนในทิศทางที่คาดว่าข้าศึกจะเข้าตีการวางกำลัง ต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากในพื้นที่มีกับระเบิดจำนวนมาก ในขณะนั้นมีเสียง ป.สนาม และ ค.๘๑ มม. ของฝ่ายเรายิงโต้ตอบ ค.ข้าศึกตลอดเวลา ส่วนกำลังของ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ ไม่สามารถเคลื่อนกำลังขึ้นสันเขาได้ต้องหยุดหน่วยทำการตั้งรับแบบเร่งด่วนบริเวณลาดเขา

 
           
 

      ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๐๗๐๐ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ เคลื่อนกำลังขึ้นบนสันเขาทั้งหมดอยู่ห่างจากที่หมาย ๓ ประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ เมตร การเคลื่อนที่เข้ายึด ที่หมาย ๓ โดยให้ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ เคลื่อนที่ผ่านแนว ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ เข้าทางที่หมาย ๓ เส้นทางการเคลื่อนที่เป็นป่ารกทึกไปตามแนวสันเขา มีกับระเบิดวางอยู่อย่างหนาแน่นทำให้ การเคลื่อนที่เป็นไปด้วยความล่าช้าในลักษณะแถวตอน ใช้ชุดกู้กับระเบิดนำทางโดยจัดทหารราบคุ้มกัน เวลาประมาณ ๑๐๐๐ ชุดกู้กับระเบิดปะทะกับกำลังทหารเวียดนาม ประมาณ ๐ นาย ขณะปรับรูปขบวนเข้าที่กำบัง พลฯ เสียน หนูคง เหยียบกับระเบิด ผบ.ร้อย.ฯจึงนำกำลังเข้าช่วยเหลือออกจากพื้นที่ ในวันนี้ ร้อย.ปล.ที่ ๒ฯ สามารถเคลื่อนที่ ไปได้เพียง ๗๐ เมตร เนื่องจากเส้นทางมีกับระเบิดเป็นจำนวนมากต้องเคลื่อนที่ด้วยความระมัดระวังในลักษณะแถวตอนเรียงตามกันทำให้ไม่สามารถยึดที่หมาย ๓ ได้

      วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ พัน.ร.๑ ฯจึงปรับแผนการเข้าตีใหม่ โดยให้ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ เปลี่ยนทิศทางการเข้าตีใหม่โดยให้เข้าตีตรงหน้าที่หมาย ๓ ซึ่งเป็นทิศทางที่ กองรบที่ ๑ และกองรบที่ ๒ ของ พัน.ร.๓ ฉก.กจต. เข้าตีไม่สำเร็จมาครั้งหนึ่งแล้ว สำหรับ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ เป็นส่วนเข้าตีสนับสนุนและลวงให้ข้าศึกเข้าใจว่าเป็นส่วนเข้าตีหลัก จากด้านทิศใต้ของที่หมาย ๓ ในวันนี้ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ จึงเคลื่อนกำลังจากสันเขาเพื่อปรับแผนการเข้าใหม่ ส่วน ร้อย.ปล.ที่ ๒ฯ ยังคงเคลื่อนที่เข้าหาที่หมาย ๓ ต่อไปโดยจัด ชุดกู้ระเบิดด้วยการใช้อุปกรณ์เหล็กแหลม,เหลาไม้ไผ่แหลม และดาบปลายปืนแทงแซะไปตามพื้นดินสามารถตรวจพบกับระเบิดบุคคลแบบตลับแป้งจำนวนนับร้อยลูก และกับระเบิดแบบกระโดดจำนวนหนึ่ง ส่วนเครื่องมือกู้กับระเบิดของทหารช่างไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำกับระเบิดเป็นพลาสติกรวมทั้งบริเวณดังกล่าวมีแร่โลหะต่างๆ เป็นจำนวนค่อนข้างมากทำให้เครื่องมือกู้ระเบิดไม่สามารถแยกได้ จึงต้องใช้วิธีค่อยๆ กู้ด้วยความระมัดระวัง เวลา ๑๕๔๕ ชุดกู้กับระเบิดปะทะกับฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีกำลัง ประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน ในระยะประชิด ผบ.ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ อยู่ในส่วนหัวขบวนสั่งการให้ชุดกู้กับระเบิดปรับรูปขบวนเข้าปะทะกำลังฝ่ายข้าศึกสถานการณ์ขณะนั้นฝ่ายเราเสียเปรียบ มากเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าข้าศึก จึงถูกทหารเวียดนามระดมยิงด้วยอาวุธชนิดต่างๆ ทั้งอาวุธประจำกายและอาวุธสนับสนุน ระหว่างการปะทะ ผบ.ร้อย. ฯ ดำเนินการขออาวุธ สนับสนุนระดมยิงไปยังที่ตั้งของทหารเวียดนาม การปะทะครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที จึงยุติลง ฝ่ายเราได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดของกระสุน ค.๘๓ มม.ของฝ่ายข้าศึก ๑ นาย คือ พลฯ บุญชร อินทร์สาคร การเข้าตีที่หมาย ๓ หลังจากที่ ผบ.พัน.ร.๑ ฯ ปรับแผนการเข้าตีใหม่โดยให้ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ เป็นส่วนเข้าตีหลักนั้น ในช่วงวันที่ ๑๓ - ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เป็นการเคลื่อนที่เข้าสู่ที่หมายการรุกคืบเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่ารกทึบพื้นที่เต็มไปด้วยกับระเบิดและขวากแหลมตลอดจนเป็นการเคลื่อนที่เข้าใกล้ที่ตั้งของข้าศึก จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นระหว่างการเคลื่อนที่จะถูกข้าศึกเข้าตีประปรายบริเวณหัวขบวนและกลางขบวน สำหรับท้ายขบวนได้รับมอบหน้าที่ให้จัดกำลังคุ้มครองเส้นทาง ลงสู่สันเขาซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่ต้องถอนตัวอย่างเร่งด่วนโดย ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ มอบให้ มว.ปล.ที่ ๓ ฯ เป็นส่วนระวังป้องกันช่องทางดังกล่าว

      การเข้าฐานพักแรมบนสันเขาซึ่งเป็นพื้นที่จำกัดการวางกำลังตั้งรับเร่งด่วนในลักษณะยาวไปตามแนวสันเขาโดยวางฉากการยิงป้องกันฐานด้วย ป.สนาม และ ค.๖๐ มม. เพื่อป้องกันการเข้าตีของฝ่ายเวียดนาม ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ ซึ่งเป็นส่วนเข้าตีหลักเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความระมัดระวังในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘ คาดว่าเข้าใกล้ที่หมาย ๓ แล้ว แต่เนื่องจากไม่ทราบการวางกำลังที่แน่นอนของฝ่ายข้าศึก ผบ.ร้อย.ฯ จึงสั่งการให้ ๒ หมู่ ปล.พร้อมด้วย ผตน.และเจ้าหน้าที่สื่อสารแยกออกทำการลาดตระเวนเส้นทางโดยให้ หมู่ของ จ.อ. สุวิทย์ มุ่งชนะ แยกไปทางซ้าย และหมู่ของ จ.อ. สมคิด แดงสุข แยกไปทางขวา กำลังส่วนใหญ่หยุดหน่วยระวังป้องกันทั้งสองหมู่แยกออกไปประมาณ ๕๐ เมตร พบส่วนระวังป้องกันของข้าศึก ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าและข้าศึกไม่รู้ตัว จึงรายงานให้ ผบ.ร้อย.ฯ ทราบ ผบ.ร้อย.ฯประมาณสถานการณ์แล้วเพื่อให้ข้าศึกเปิดเผยแนวในการตั้งรับ จึงสั่งการให้ทั้งสองหมู่ทำการเข้าตีข้าศึกเพื่อลวง ว่าเป็นกำลังส่วนใหญ่และให้ข้าศึกเปิดเผยที่ตั้งรับ การปะทะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผบ.ร้อย.ฯ ร้องขอกำลังทางอากาศเพื่อ ยิงกดข้าศึกสลับกับ ป.สนาม และ ค.ของฝ่ายเราช่วยให้กำลังทหารราบรุกคืบหน้าเข้าหาข้าศึกด้วยความรวดเร็วเวลาประมาณ ๑๔๐๐ เสียงปืนจากฝ่ายข้าศึกยุติลง จึงนำกำลัง เข้าวางตัวในภูมิประเทศเมื่อตรวจสอบที่อยู่ที่แน่นอนจึงทราบว่า ร้อย ปล.ที่ ๔ ฯ สามารถเข้ายึดบางส่วนของที่หมาย ๓ ได้แล้วและกำลังส่วนใหญ่วางตัวกลางสนามทุ่นระเบิด ของฝ่ายตรงข้าม การปะทะครั้งนี้ฝ่ายตรงข้ามสูญเสียเป็นจำนวนมากต้องถอนตัวล่าถอยออกไปทิ้งศพไว้ในที่ปะทะจำนวนหนึ่ง ฝ่ายเราบาดเจ็บมีจำนวนไม่มากนัก จึงทำการตั้งรับ แบบเร่งด่วนเพื่อปรับกำลังใหม่

 
 

      ในวันที่ ๑๕พฤษภาคม ๒๕๒๘ ผบ.พัน.ฯส่งกำลัง ๑ มว.ปล.เพิ่มเติมกำลังให้ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ โดยมี ร.ต.จริญ ไชยศรี เป็น ผบ.มว. ส่ง ปรส.๑๐๖ มม.สมทบ ๑ กระบอก และ รถวี - ๑๕๐ ๑ คัน ทำให้ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ สามารถรุกคืบหน้าเพื่อยึดพื้นที่ต่อไปพร้อมทั้งยึดอาวุธและยุทโธปกรณ์ของฝ่ายข้าศึกได้จำนวนหนึ่ง ได้แก่ ปก. ๑ กระบอก กระสุนอาร์กาและกระสุน ปก.๙๓ จำนวน ๔,๐๐๐ นัด พื้นที่ตั้ง ค.๘๒ จำนวน ๓ หลุม การเคลื่อนที่เข้ายึดบางส่วนของที่หมาย ๓ จำเป็นต้องหยุดลง ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เพื่อเตรียมการเข้าตีพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่หมาย ๓ ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ระหว่างการหยุดหน่วย ได้ทำการจัดชุดออกไปลาดตระเวนบริเวณที่หมาย เพื่อกำหนดเส้นทาง ในการเข้าตี ชุดลาดตระเวนเส้นทางมีการปะทะกับฝ่ายข้าศึกบ่อยครั้งในระหว่างเตรียมการเข้าตีหน่วยเหนือขอ บ.เอฟ- ๕ จาก ทอ.ทิ้งระเบิดบริเวณที่หมาย ๓ สลับกับการขอ ป.สนาม ยิงทำลายที่หมายก่อนการเข้าตี และในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘ กระสุน ป.สนามของฝ่ายเรายิงถูกเป้าหมายซึ่งเป็นคลังกระสุนของข้าศึกทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง ทำให้เศษหินตกลงบริเวณแนววางตัวของ ร้อย.ปล ที่ ๔ ฯ ซึ่งอยู่ใกลคลังกระสุนที่ถูกทำลาย สำหรับ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ ซึ่งเป็นส่วนเข้าตีสนับสนุนเคลื่อนที่จากทางทิศใต้เข้า หาที่หมาย ๓ และจากภายนอกเขตประเทศไทยตลอดเวลาการเคลื่อนที่เข้าหาเป้าหมาย ๓ จำนวน ๕ วัน(๑๓ - ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘)มีการปะทะระหว่างทาง รวม ๑๐ ครั้ง ส่วนในเวลากลางคืนถูกฝ่ายข้าศึกเข้าตีทุกคืนมีผู้ได้รับบาดจ็บ ๔ นาย ได้แก่ จ.อ. ประกอบ จำนงค์ประโคน,พลฯอัมสบูเลาะ สะมะแอ,พลฯมนตรี ขวัญอ่อน ,พลฯปัญญา สุทธิพงษ์ ฝ่ายเราสามารถยึดปืนอาร์ก้า ได้จำนวนหนึ่งพร้อมกระสุนจำนวนมาก การเคลื่อนที่เข้าหาข้าศึกเป็นไปด้วยความยากลำบากนอกจากต้องระวังป้องกันการซุ่มโจมตีของข้าศึกแล้ว ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่ารกทึบเต็มไปด้วยกับระเบิด ตลอดจนมีฝนตกหนักเกือบตลอดเวลา กำลังพลป่วยเป็นไข้มาลาเรียหลายนาย ในช่วงหลังๆร่างกายเริ่มอ่อนเพลียเนื่องจาก ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอเสื้อผ้าอยู่ในสภาพชื้น อาหารร้อนไม่สามารถประกอบได้เพราะไม่มีแหล่งน้ำและไม่สาทารถก่อไฟได้ต้องใช้เสบียงแห้งในการรับประทานทุกวัน แต่การส่งกำลังบำรุงทำได้ดีมาก ได้รับการช่วยเหลือจากประชาชนในพื้นที่จัดหาเสบียง,ผลไม้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นสนับสนุนให้ตลอดเวลา

      วันสุดท้ายของการปฏิบัติการในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เมื่อ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ และ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ วางกำลังใกล้ที่หมายเตรียมการเข้าตีเรียบร้อย ผบ.พัน.ฯจึงสั่งการให้ เข้ายึดที่หมาย ๓ ในสองทิศทาง โดยให้ ร้อย.ปล.ที่ ๒ ฯ เป็นส่วนเข้าตีสนับสนุนเพื่อลวงข้าศึกให้คิดว่าเป็นส่วนเข้าตีหลัก เข้าตีจากทางทิศใต้ของที่หมายและกดข้าศึกไว้ในที่หมาย ตลอดจนป้องกันการเพิ่มเติมกำลังของข้าศึกจากภายนอกประเทศ เวลา ๑๐๐๐ ทุกหน่วยเริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่ที่หมายด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะกับระเบิดของฝ่ายข้าศึก เมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ที่หมายทุกหน่วยทำการปรับรูปขบวนเตรียมการเข้ายึดพื้นที่โดยใช้กำลัง ๒ มว.ปล. เข้าตี ๑ มว.ปล.เป็นฐานยิงก่อนการเข้ายึดที่หมาย ๓ กองร้อยในแนวหน้า ทำการขอ บ.และ ป.โจมตีที่หมายและใช้อาวุธสนับสนุนยิงบริเวณแนวตั้งรับของฝ่ายข้าศึกทำการยิงโต้ตอบด้วย ป. และอาวุธสนับสนุนในการป้องกันที่มั่นเช่นกัน การยึดที่หมาย ของ ร้อย.ปล. ที่ ๔ ฯ ดำเนินไปด้วยความความรวดเร็วสามารถยึดที่หมาย ๓ ได้สำเร็จเมื่อเวลาก่อนเที่ยงของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ กำลังทหารเวียดนามถอนตัวออกไป ตามคูติดต่อไปทางทิศตะวันออกเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชาการเข้ายึดที่หมาย ๓ ในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งสร้างความสูญเสียให้ฝ่ายข้าศึกอย่างหนัก สำหรับ กำลังฝ่ายเราไม่มีผู้ใดเสียชีวิตกำลังพลของ ร้อย.ปล.ที่ ๔ ฯ ซึ่งเป็นส่วนเข้าตีหลักบาดเจ็บ ๑๘ นาย(ขาขาด เนื่องจากถูกกับระเบิดระหว่างการเข้าตี ๕ นาย)และเป็นไข้มาลาเรีย ทั้งกองร้อยฯ ส่วน ร้อย.ปล.ที่ ๒ เป็นส่วนเข้าตีสนับสนุนไม่มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ

 
 

      เมื่อยึดที่หมาย ๓ ได้สำเร็จ พัน.ร.๑ ฯ สั่งให้หน่วยทำการตั้งรับบริเวณที่หมายเพื่อยึดพื้นที่และป้องกันการตีโต้ตอบจากกำลังฝ่ายข้าศึก ระหว่างการวางกำลังตั้งรับตั้งแต่ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ถึง วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๘ กำลังตั้งรับถูกฝ่ายข้าศึกเข้าตีแทบทุกคืนด้วยอาวุธสนับสนุนและอาวุธปืนเล็กบริเวณแนวตั้งรับ จนกระทั่งสามารถ ส่งมอบพื้นที่ให้ พัน.ร.๓ กจต. วางกำลังป้องกันพื้นที่ต่อไป

ผลการปฏิบัติ

      ฝ่ายเราสามารถผลักดันขับไล่ทหารเวียดนามประมาณ ๓ กองพัน ที่รุกเข้ามายึดพื้นที่ในเขตประเทศไทยให้ถอนกลับออกไปจากเขตประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๑๐๕ และได้วางกำลังยึดรักษาพื้นที่บริเวณนั้นได้เพื่อป้องกันมิให้ทหารเวียดนามรุกล้ำเขตแดนเข้ามาอีก

การสูญเสียของฝ่ายเรา

      - เสียชีวิต ๘ นาย(นย.๓,อส.ทพ.นย.๕)

      - บาดเจ็บจากการรบ ๖๘ นาย นย.๔๓ นาย(น.๒,พ.๒,จ.๑๖,พลฯ ๒๓)ทพ.นย. ๒๔ นาย ตชด. ๑ นาย

      - ป่วยจากมาลาเรีย ๕๘๔ นาย

การสูญเสียฝ่ายทหารเวียดนาม

      - เสียชีวิต ๑๕ นย(พบศพ)

      - บาดเจ็บ จำนวนมาก

      - อาวุธถูกทำลาย ปรส.๒กระบอก, ค.๑๒๐ มม. ๑ กระบอก คลัง สป.๕(คลังกระสุนวัตถุระเบิด) ๑ แห่ง

      - อาวุธถูกฝ่ายเรายึด ปก.๑๒.๗ มม. ๑ กระบอก,ปก. ๗.๖๒มม. ๒ กระบอก,กระสุน ๖,๐๐๐ นัด,ปืนอาร์ก้า ๒ กระบอก, ลูกระเบิดขว้างและทุ่นระเบิดจำนวนมาก

 
            
 

บทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติในครั้งนี้

        ๑.การประกอบกำลัง พัน.ร.๓ ฉก.กจต. ประกอบกำลังเป็น ๓ กองรบ ในแต่ละกองรบจัดให้มีกำลังหลายประเภท มีทั้งกำลังรบหลัก ได้แก่ ร้อย.ปล. ฯ,กำลังทหารพราน และ ตชด.เข้าทำการรบร่วมกัน กำลังของแต่ละกองรบจัดมาจากหน่วยต่างๆเช่น จาก พัน.ร.๒ ฯ,ฉก.ทพ.นย. และ ตชด. ทำให้ไม่มีเอกภาพในการบังคับบัญชาอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดผลเสียในการปฏิบัติ เนื่องจากกำลังแต่ละประเภทมีขีดความสามารถในการปฏิบัติต่างกัน หน่วยระดับกองพันลงมาในการปฏิบัติการรบควรเป็นทหารที่มาจากหน่วยเดียวกัน

       ๒.การเตรียมกำลัง การฝึกเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับหน่วยที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการรบเพื่อความเข้มแข็ง อดทน ดังนั้นหน่วยควรให้กำลังได้รับการฝึกในลักษณะภูมิประเทศ ป่าภูเขารวมทั้งการฝึกเข้าตีตามแบบ ตลอดจนการฝึกผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้มีความรู้เกี่ยวกับการขอยิงอาวุธสนับสนุน

       ๓.การส่งกำลังบำรุง การส่งกำลังที่ดีทำให้หน่วยปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งกลับผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่การรบได้อย่างรวดเร็วเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับทหารที่ทำการรบ พัน.ร. ๓ มีปัญหาเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงไม่สามารถส่งถึงทหารในแนวหน้าได้ตามเวลาทำให้ทหารในแนวหน้ามีประสิทธิภาพในการรบลดลง

       ๔.การบังคับบัญชา ผบ.หน่วยต้องมีเอกภาพในการบังคับบัญชา มีลักษณะ ของความเป็นผู้นำมีความรู้ความสามารถในการนำหน่วยเข้าทำการรบ ควบคุมหน่วยได้อย่าง ทั่วถึงต่อเนื่อง การจัดกำลังเข้าทำการรบของ พัน.ร.๓ ฯ ประกอบด้วยกำลังจากหน่วยต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านการบังคับบัญชาหน่วย

 
            
 

       ๕.การใช้อาวุธสนับสนุน การวางแผนการใช้อาวุธสนับสนุนในการสนับสนุนการเข้าตีของหน่วยดำเนินกลยุทธให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ในการปฏิบัติภารกิจ

      ๖.เรื่องเกี่ยวกับโชค เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ในการปฏิบัติครั้งนี้เป็นการปฏิบัติในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกับระเบิด กำลังเข้าตีบางส่วนปรับรูปขบวนเข้ายึดพื้นที่ต้องเคลื่อนที่ ด้วยความรวดเร็ว เมื่อยึดที่หมายได้แล้วพบว่าพื้นที่เคลื่อนที่และบริเวณที่หมายตรวจพบกับระเบิด จำนวนมากแต่ไม่มีผู้ใดเหยียบกับระเบิดโชคจึงจำเป็นอย่างหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้