ยุทธการบ้านกระดูกช้าง
อำเภอบ่อไร่ จังวัดตราด

 

     สถานการณ์การสู้รบในประเทศกัมพูชา มีผลให้กองกำลังติดอาวุธและประชาชนชาวกัมพูชารุกล้ำอธิปไตย และหนีภัยจากการสู้รบ เข้าเขตประเทศไทยบ่อยครั้ง ในต้นเดือนมกราคม ๒๕๒๘ กำลังฝ่ายเวียดนาม/เฮงสัมริน ดำเนินการกวาดล้างกำลังทหารกัมพูชาฝ่ายซอนซาน บริเวณพื้นที่ชายแดนตรงข้ามบ้านกระดูกช้าง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด โดยฝ่ายทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ส่งกำลังขนาด ๑ กรมทหารราบ (๔๐๐-๖๐๐ คน)สนับสนุนด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มม. เครื่องยิงลูกระเบิด ๘๒ มม., ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ๗๕ มม., ปืนใหญ่ ๑๒๐ มม.และปืนใหญ่ ๑๕๕ มม.ทำให้ทหารกัมพูชาต้องอพยพประชาชนจากบริเวณบ้านสุขสันต์ เข้าเขตประเทศไทย บริเวณบ้านกระดูกช้าง ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน และทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ส่งกำลังรุกไล่ติดตามกวาดล้างทหารกัมพูชาในพื้นที่บ้านสุขสันต์ โดยวางกำลังรุกล้ำอธิปไตยในเขตประเทศไทย บริเวณพิกัด ทียู.๕๔๗๘,ทียู.๕๕๗๗ และ ทียู.๕๒๘๐ ห่างจากแนวชายแดนประมาณ ๑–๒ กิโลเมตร

      กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด สั่งการให้ กองพันทหารราบที่ ๓ กองกำลังด้านจันทบุรี-ตราด ดำเนินการพิสูจน์ทราบ ตรวจค้น กวาดล้าง และผลักดัน กองกำลังเวียดนาม/เฮงสัมริน ออกนอกเขตประเทศไทย กองพันทหารราบที่ ๓ ฯ โดยมี นาวาตรี บัณฑูร วรรณสุทธิ์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓ จัดกำลังเข้าปฏิบัติการประกอบด้วย ๓ กองร้อยปืนเล็ก ๕ ชุด ปฏิบัติการ จากกองร้อยทหารพรานนาวิกโยธินที่ ๕๐๑, ๕๐๒, กองร้อยที่ ๗ ตำรวจตระเวนชายแดน (หย่อนกำลัง)พร้อมอาวุธสนับสนุนในอัตรา การปฏิบัติภารกิจในการผลักดันทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ที่รุกล้ำอธิปไตยในพื้นที่ดังกล่าว กองพันทหารราบที่ ๓ ฯ กำหนดแนวความคิดในการปฏิบัติด้วยกำลัง ๓ กองร้อยปืนเล็ก ในแต่ละกองร้อยได้รับการสมทบกำลัง ๑ หมวดตำรวจตระเวนชายแดนจาก กองร้อยที่ ๗ ตำรวจตระเวนชายแดน และ ๒ ชุดปฏิบัติการทหารพรานนาวิกโยธินที่ ๕๐๑, ๕๐๖ กำหนดการปฏิบัติของหน่วยต่าง ๆ ดังนี้

      กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ มี เรือเอก ไตรขวัญ กรีกุล เป็น ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ เข้าตีทางปีกซ้าย เพื่อกวาดล้างและผลักดันทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน บริเวณช่องคลอดปูนเปียก

      กองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ มี เรือเอก เชลง รุ่งแสงจันทร์ เป็น ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๔ ฯ เข้าตีทางปีกขวา เพื่อกวาดล้างและผลักดันทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน บริเวณบ้านกระดูกช้าง

      กองร้อยปืนเล็กที่ ๓ ฯ มี เรือโท ณัฐพล ศรีสมบูรณ์ เป็น ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๓ ฯ เป็นกองหนุน วางกำลังสกัดกั้น บริเวณทิศตะวันออกของเขาน้อย พิกัด ทียู.๔๙๗๗

      เมื่อ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๘ กองพันทหารราบที่ ๓ ฯ เคลื่อนย้ายกำลังจากที่ตั้ง บ้านศรีบัวทอง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เข้าพื้นที่ปฏิบัติการบ้านกระดูกช้าง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด โดยจัดตั้ง ทก.ยุทธวิธี เพื่อควบคุมอำนวยการยุทธ บริเวณพิกัด ทียู.๔๒๔๗๘๘

       กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ ได้รับมอบภารกิจในการกวาดล้าง และผลักดันกำลังทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ให้ออกนอกเขตประเทศไทย บริเวณพิกัด ทียู.๕๓๗๙ และ ทียู.๕๔๗๘ ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ ดำเนินการสำรวจพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อวางแผนเข้าตี โดยนำเอา ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก, ผู้บังคับหมวดเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม. และเจ้าหน้าที่สื่อสาร ไปสำรวจพื้นที่ พร้อมทั้งประสานเครื่องบินทหารอากาศในพื้นที่ ที่สนามบินจังหวัดตราด เตรียมการตรวจการณ์ และปรับการยิงให้กับอาวุธสนับสนุน ตลอดจนประสานทหารกัมพูชาในพื้นที่ ให้ทำการเฝ้าตรวจและแจ้งความเคลื่อนไหวของทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน การปฏิบัติการด้วยการใช้อาวุธสนับสนุนเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม. ,ปืนใหญ่ ๑๐๕ มม.และเครื่องบินทหารอากาศ โจมตีเป้าหมายที่ตั้งกำลังของทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน บริเวณที่หมายในวันแรกการโจมตีด้วยอาวุธสนับสนุนไม่ได้ผล เนื่องจากอากาศปิด การตรวจการณ์ทางอากาศจำกัด ในวันต่อมาทำการประสานกับทหารกัมพูชาให้ทำการเข้าตีทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน โดยฝ่ายไทยทำการยิงสนับสนุน ด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่สนามให้ปฏิบัติการเข้าตี อยู่ในความควบคุมของกองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ ทำให้การปฏิบัติประสบผลสำเร็จ เนื่องจากทหารกัมพูชาชำนาญพื้นที่ สามารถผลักดัน ทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ออกนอกเขตแดนไทย หลังจากนั้น กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ เคลื่อนกำลังเข้ายึดที่หมายจากการตรวจพื้นที่บริเวณที่หมายเชื่อว่า ทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ได้รับความสูญเสียและบาดเจ็บจำนวนมาก จากการยิงอาวุธสนับสนุนของฝ่ายเรา เนื่องจากตรวจพบรอยเลือดหลายแห่ง พบเสื้อผ้าถูกสะเก็ดระเบิดจำนวนมาก สำหรับทหารกัมพูชาที่เข้าตี เสียชีวิต ๔ ศพ ฝ่ายเราปลอดภัย และถอนกำลังกลับที่รวมพล เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ต่อไป

      เมื่อ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๘ ปรากฏว่าทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ทำการกวาดล้างทหารกัมพูชา รุกล้ำเข้าเขตแดนไทย และวางกำลังยึดพื้นที่บริเวณพิกัด ทียู.๕๓๘๑, ทียู.๕๔๗๙, ทียู.๕๒๘๐ และ ทียู.๕๔๗๘ กองพันทหารราบที่ ๓ กองกำลังด้านจันทบุรี-ตราด จึงจัดกำลังเข้าทำการกวาดล้างและผลักดันทหารเวียดนาม/เฮงสัมรินในพื้นที่ดังกล่าว โดยมอบภารกิจ ให้กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ ทำการเข้าตีกวาดล้างและผลักดันกำลัง ทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน และยึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๐๗๘, ทียู.๕๒๘๐ และ ทียู.๕๓๗๙ ตามลำดับ กองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ ทำการเข้าตีกวาดล้างและผลักดันกำลังทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน และยึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๓๗๖, ทียู.๕๕๗๖ และ ทียู.๕๔๗๘

      กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ เคลื่อนกำลังจากที่รวมพลขั้นต้น บริเวณพิกัด ทียู.๔๘๗๗ ตามเส้นทางในภูมิประเทศรูปขบวนแถวตอนเรียงตามกัน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นป่ารกทึบ โดยใช้ทหารกัมพูชาเป็นผู้นำทาง สองข้างทางเต็มไปด้วยขวากไม้ไผ่และกับระเบิดจำนวนมาก ขณะเดินทางเข้าใกล้ที่หมาย พลนำทางเหยียบกับระเบิดเสียชีวิต ๑ นาย บาดเจ็บสาหัส (ขาขาดทั้งสองข้าง ๑ นาย)และบาดเจ็บเล็กน้อย จำนวนหนึ่ง ผู้บังคับกองร้อย ฯ จึงสั่งการให้ทหารกัมพูชาที่เหลือนำศพ และผู้บาดเจ็บส่งกลับไปยัง ทก.พัน ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๑๕๖ กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ เคลื่อนที่เข้ายึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๐๗๘ และใน ๒๖ มกราคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๔๐๐ เข้ายึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๒๘๐ โดยไม่ได้รับการต้านทาน จากฝ่ายทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ใน ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘ กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ เคลื่อนกำลังเพื่อเข้ายึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๓๗๙ ก่อนถึงที่หมายได้จัดส่งชุดลาดตระเวน ออกไปหาข่าวการวางกำลังของทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน และสำรวจพื้นที่ไม่พบร่องรอยของฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีแหล่งน้ำ ไม่เหมาะสมในการวางกำลังยึดพื้นที่ กองร้อยปืนเล็กที่ ๑ ฯ จึงขออนุมัติ กองพันทหารราบที่ ๓ ฯ วางกำลังยึดพื้นที่บริเวณพิกัด ทียู.๕๒๘๐ โดยจัดส่งชุดลาดตระเวนระวังป้องกัน และซุ่มโจมตีบริเวณพิกัดทียู.๕๓๗๙ การปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้สามารถยึดที่หมายสำเร็จโดยไม่ได้รับการต้านทานจากฝ่ายตรงข้าม

       กองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ เคลื่อนกำลังที่จากที่รวมพลขั้นต้น บริเวณพิกัด ทียู.๕๑๗๕ ตามเส้นทางในภูมิประเทศเข้ายึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๓๗๖ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๑๕๖ โดยไม่ได้รับการต้านทานจากทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ในพื้นที่ ๆ หมายตรวจพบร่องรอยการวางกำลังของข้าศึก เช่น กล่อง, เสบียงอาหาร, เศษอาหาร, ปลอกกระสุน เป็นต้น ในวันรุ่งขึ้น วันที่ ๒ต มกราคม ๒๕๒๘ กองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ เคลื่อนกำลังเข้ายึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๕๗๖ สามารถยึดที่หมายได้ในเวลา ๑๐๕๐ โดยไม่มีการต้านทานจากฝ่ายตรงข้ามเช่นเดิม แต่พบร่องรอยการพักแรมของข้าศึกจึงทิ้งกำลัง ๑ ชุดปฏิบัติการทหารพรานนาวิกโยธิน ยึดรักษาพื้นที่ไว้แล้ว นำกำลังส่วนใหญ่เคลื่อนที่ต่อไปตามสันเขา เพื่อเข้ายึดที่หมายบริเวณพิกัด ทียู.๕๔๗๘ โดยให้ทหารกัมพูชาเป็นผู้นำทาง ลักษณะเส้นทางการเคลื่อนที่ เป็นเส้นบังคับไปตามภูมิประเทศจนถึงบริเวณพิกัด ทียู.๕๕๑๗๗๗ พลนำทางรายงานว่าตรวจพบข้าศึก น่าจะเป็นที่ตั้งของ ทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ผู้บังคับกองร้อย ฯ จึงขอสนับสนุนการยิงไปยังที่ตั้งข้าศึกและนำกำลังเข้ากวาดล้าง ขณะดำเนินการเข้าตี เรือเอก เชลง ฯ ผู้บังคับกองร้อย เหยียบกับระเบิดของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งวางป้องกันฐานไว้โดยรอบได้รับบาดเจ็บ บริเวณขาขวาและสะโพกด้านขวา จึงต้องถอนกำลังเข้าฐานชั่วคราวและดำเนินการส่งกลับในรุ่งขึ้น

 
 

      ใน ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘ กองพันทหารราบที่ ๓ ฯ สั่งการให้ เรือเอก ดำรงค์ สารสิทธิ์ นายทหาร ฝ่ายการข่าว กองพันทหารราบที่ ๓ กองกำลังด้านจันทบุรี-ตราด ปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ แทน เรือเอก เชลงฯ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติที่ผ่านมา เรือเอก ดำรงค์ ฯ เดินทางไปรับหน้าที่ เมื่อเวลา ๐๗๐๐ ทำการสำรวจพื้นที่ปฏิบัติการ ทราบว่าบริเวณที่หมายมีกำลังของทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ประมาณ ๑๐๐–๑๕๐ คน วางแนวตั้งรับด้วยการขุดคูสนามเพลาะ เป็นแนวยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ตามแนวสันเนินตั้งแต่ บริเวณพิกัด ทียู.๕๕๗๘-ทียู.๕๔๗๙ มีการวางปืนกลเบาและปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ได้เปรียบ มีพื้นที่ยิงที่ดี ตลอดจนมีการวางกับระเบิดไว้อย่างแน่นหนาบริเวณหน้าแนวตั้งรับ หลังจากสำรวจพื้นที่ที่หมายแล้ว ผู้บังคับกองร้อย ฯ วางแผนการปฏิบัติและออกคำสั่งเข้าตีที่หมายให้กับ ผู้บังคับหมวด และหัวหน้าส่วนที่ขึ้นสมทบ เกี่ยวกับภารกิจ, การปฏิบัติแบะแนวความคิดในการปฏิบัติ รูปขบวนในการเข้าตี กำหนดแนวประสานการปฏิบัติขั้นสุดท้าย เพื่อปรับรูปขบวนในการเข้ายึดที่หมาย ให้หมวดปืนเล็กที่ ๑ ฯ มี เรือตรี ยงยุทธ สุวรรณปรีดี เป็นผู้บังคับหมวด ฯ เข้าตีทางปีกซ้าย หมวดปืนเล็กที่ ๒ ฯ มี พันจ่าเอก ณรงค์ นุตะปราณี เป็นผู้บังคับหมวด ฯ เข้าตีทางปีกขวา โดยให้หมวดปืนเล็กที่ ๓ ฯ มีพันจ่าเอก สุชาดา หลงสวัสดิ์ เป็นผู้บังคับหมวด ฯ เป็นหมวดสนับสนุน สำหรับผู้บังคับกองร้อย ฯ เคลื่อนที่ตาม หมวดปืนเล็กที่ ๒ ฯ ซึ่งเป็นหมวดเข้าตีหลักพร้อมทั้งมอบภารกิจให้หมวดหนุน ระวังป้องกันพื้นที่ ด้านหลังและรักษาเส้นทางการส่งกำลัง เพื่อให้สามารถส่งกลับได้อย่างปลอดภัย และสามารถใช้เส้นทางในการส่งกำลังบำรุงได้อย่างต่อเนื่อง

      ใน ๒๘ มกราคม ๒๕๒๘ ก่อนทำการเข้าตีที่หมาย กองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ ขอปืนใหญ่ ๑๐๕ มม.ยิงทำลายที่หมาย ตั้งแต่ ๐๘๓๐ ถึงเวลา ๐๘๔๕ ระหว่างการยิงทำลายที่หมาย กำลังกองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ เคลื่อนที่ผ่านแนวออกตีด้วยรูปขบวนตอนเรียงเดี่ยว ไปตามเส้นทางในภูมิประเทศเข้าสู่ที่หมาย การเคลื่อนที่ทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากพื้นที่เต็มไปด้วยกับระเบิดที่ฝ่ายตรงข้ามวางป้องกันที่ตั้งไว้ จำเป็นต้อง ใช้สุนัขสงครามร่วมกับทหารช่างในการตรวจค้นทุ่นระเบิดในระหว่างการเคลื่อนที่ จนกระทั่งเคลื่อนที่เข้าใกล้ข้าศึก ห่างแนวตั้งรับของทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ประมาณ ๑๕๐ เมตร ชุดลาดตระเวนล่วงหน้า รายงานผู้บังคับกองร้อย ฯ ว่า ตรวจพบข้าศึกวางกำลังตั้งรับตามแนวคูสนามเพลาะอย่างหนาแน่น จึงประสานเครื่องบินทหารอากาศ หน่วยบิน ๒๐๒๒ จังหวัดตราด บินตรวจการณ์ทางอากาศและปรับการยิง ทำให้กระสุนปืนใหญ่ ๑๐๕ มม.ยิงถูกเป้าหมายอย่างได้ผล เมื่อกำลังเคลื่อนที่ห่างที่หมายประมาณ ๑๐๐ เมตร ผู้บังคับกองร้อย ฯ ประสานปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. หยุดยิง เพื่อดำเนินกลยุทธเข้ายึดที่หมาย โดยให้หมวดปืนเล็กที่ ๑ ฯ เข้าตีทางปีกซ้าย หมวดปืนเล็กที่ ๒ ฯ เป็นส่วนเข้าตีหลักทางปีกขวาและดำเนินกลยุทธเข้ายึดที่หมาย ปรากฏว่าได้รับการต้านทานจากอาวุธของข้าศึกอย่างหนาแน่น ทั้งอาวุธประจำกาย ,อาวุธประจำหน่วย และอาวุธสนับสนุน การรุกคืบหน้าได้อย่างล่าช้า เนื่องจากที่หมายอยู่บนเนินสูงกว่า ระหว่างทางเต็มไปด้วยกับระเบิด ระหว่างการเข้าตีทหารได้รับบาดเจ็บจากอาวุธของข้าศึก ๒ นาย ต้องรีบดำเนินการส่งกลับไปยังพื้นที่ส่วนหลัง และขอเฮลิคอปเตอร์สนับสนุนในการส่งกลับ จากนั้นผู้บังคับกองร้อย ฯ ร้องขอปืนใหญ่ ๑๐๕ มม.ยิงสนับสนุนการเข้าตี เพื่อตัดรอนและทำลายป้อมปืนกล และอาวุธสนับสนุนของข้าศึกตามแนวคูสนามเพลาะ โดยมีเครื่องบินทหารอากาศหน่วยบิน ๒๐๒๒ ตรวจการณ์และปรับการยิงให้ จนกระทั่งเวลา ๑๖๐๐ สภาพทัศนวิสัยในพื้นที่ปฏิบัติการจำกัด เนื่องจากเมฆปกคลุมพื้นที่มาก ทำให้การตรวจการณ์ทางอากาศไม่ได้ผล ประกอบกับกระสุนของหน่วยดำเนินกลยุทธในการเข้าตีที่หมายเหลือน้อยมาก จำเป็นต้องถอนกำลังเข้าที่ตั้งรับเร่งด่วน เพื่อรับการส่งกำลังบำรุง รับการเพิ่มเติมกระสุน, เสบียง และปรับกำลังเตรียมการเข้าตีต่อไป

      ในระหว่าง ๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๒๘ ได้ส่งชุดลาดตระเวนหาข่าวและเฝ้าตรวจความเคลื่อนไหวของทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน บริเวณที่หมายไม่พบความเคลื่อนไหว คาดว่าทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน กำลังปรับกำลังใหม่เพื่อเตรียมการต่อต้านการเข้าตีของฝ่ายเรา และใน ๓๑ มกราคม ๒๕๒๘ เวลา ๐๘๐๐ ผู้บังคับกองร้อย ฯ สั่งการให้หน่วยทำการเข้าตี เพื่อยึดที่หมายต่อไป โดยใช้รูปขบวนและการจัดหน่วยเข้าตี เช่นเดิม โดยกำหนดให้ หมวดปืนเล็กที่ ๑ ฯ เป็นหน่วยเข้าตีหลัก ในการเข้าตีครั้งนี้ไม่มีการเตรียมด้วยปืนใหญ่สนาม เนื่องจากต้องผลในการจู่โจม และเปลี่ยนทิศทางเข้าตีใหม่ทางทิศตะวันตกของที่หมาย ใช้เนิน ๒๐๓ เป็นจุดตรวจการณ์ในการเข้าตี การเข้าตีที่หมายได้รับการต้านทานจากทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน อย่างหนัก แต่ทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ไม่สามารถต้านทานกำลังของฝ่ายเราได้ จึงถอนตัว ถอยร่นเข้าเขตกัมพูชา เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๘๐๐ กองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ เข้าทำการกวาดล้างข้าศึก และยึดที่หมาย ตรวจพบร่องรอยการสูญเสีย, ร่องรอยของที่พัก, ป้อมปืนที่ตั้งอาวุธสนับสนุนถูกทำลาย และสามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้จำนวนมาก ส่วนข้าศึกที่เสียชีวิตคาดว่ามีจำนวนมาก แต่ข้าศึกได้นำศพถอยกลับไปด้วย ทำให้ไม่สามารถยึดศพของข้าศึกได้

      ผลการปฏิบัติในครั้งนี้ กองร้อยปืนเล็กที่ ๒ ฯ สามารถยึดพื้นที่และผลักดันกำลังทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ที่รุกล้ำอธิปไตย ให้ออกนอกเขตแดนไทยสำเร็จ พร้อมทั้งสร้างความสูญเสียให้กับกำลังของฝ่ายตรงข้าม และยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้จำนวนมาก โดยฝ่ายเราเสียชีวิต ๑ นาย บาดเจ็บ ๓ นาย

 
สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติ
 

       การปฏิบัติภารกิจในการกวาดล้างและผลักดันกำลังทหารเวียดนาม/เฮงสัมริน ที่รุกล้ำอธิปไตยในครั้งนี้ทำให้ได้รับบทเรียน เป็นข้อมูลในการศึกษาและเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

      ๑. การประกอบกำลัง

             กองพันทหารราบที่ ๓ กองกำลังด้านจันทบุรี-ตราด ประกอบกำลังจากหลายหน่วย ได้แก่ ทหารนาวิกโยธิน, ทหารพรานนาวิกโยธิน และตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งแต่ละกองร้อยจะประกอบกำลังจาก ๓ หน่วย ดังกล่าว เนื่องจากกำลังของแต่ละหน่วยมีพื้นฐานในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการปกครองบังคับบัญชา ทำให้เกิดปัญหาในการสั่งการต่อกำลังดังกล่าวที่มาจากต่างหน่วยกัน

      ๒. การใช้อาวุธสนับสนุน

             ลักษณะภูมิประเทศที่ปฏิบัติการเป็นเขาสูงชันและป่ารกทึบ การใช้อาวุธสนับสนุนในอัตราของกองร้อยปืนเล็ก ในพื้นที่สู้รบไม่สามารถกระทำได้การใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มม.หาที่ตั้งยิงลำบากมีพื้นที่จำกัด กองร้อยจึงต้องส่ง ตอนเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มม.กลับและขอเบิกเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง อาร์พีจี ไปสนับสนุนแทน

      ๓. ลักษณะพื้นที่ปฏิบัติ

             พื้นที่ปฏิบัติการมีลักษณะเป็นป่ารกทึบ การเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางบังคับจากที่ต่ำขึ้นที่สูง เส้นทางเต็มไปด้วยกับระเบิด และขวากไม้ไผ่จำนวนมาก บริเวณที่หมายเป็นมั่นดัดแปลงแข็งแรง การเข้าตีที่หมายจำเป็นต้องใช้ปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. ยิงทำลายและข่มข้าศึกก่อนการเข้าตี เพื่อลดความสูญเสียของฝ่ายเรา

      ๔. การส่งกำลังบำรุง

            ปัญหาสำคัญในการปฏิบัติการยุทธครั้งนี้ หน่วยสนับสนุนไม่สามารถส่งกำลังให้หน่วยในแนวหน้าได้ ทำให้หน่วยดำเนินกลยุทธ ต้องส่งกำลังส่วนหนึ่งลงมารับสิ่งอุปกรณ์ แบะเสบียงอาหาร ตลอดจนการปฏิบัติทำให้ต้องเสียกำลัง ในส่วนดำเนินกลยุทธไปส่วนหนึ่งโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การวางแผนในการปฏิบัติไม่ควรมองข้ามความสำคัญในเรื่องการส่งกำลังบำรุง