การจัดตั้งกิจการการท่องเที่ยว นย.

P1030249 

      

กิจการการท่องเที่ยว หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นกิจการซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของแผนกสวัสดิการภายใน นย. มีหน้าที่กำกับดูแล ความเป็นระเบียบเรียบร้อยสถานที่ ร้านค้า สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาพักผ่อนหรือใช้บริการด้านต่าง ๆ บริเวณพื้นที่พักผ่อนหาดเตยงาม ปัจจุบันสำนักงานตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว ใกล้กับมารีนโบ๊ทคลับ (สโมสรเรือใบเดิม)
การก่อตั้งกิจการการท่องเที่ยว นย. ขึ้นมานั้น เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เมื่อปี ๒๕๔๑ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นปีการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ทร. จึงมีนโยบายให้หน่วยขึ้นตรง จัดสถานที่ที่มีความเหมาะสมด้านการท่องเที่ยวภายในหน่วยให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล และส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักสถานที่ของกองทัพเรือให้มากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ด้านจิตวิทยา และการประชาสัมพันธ์ต่อหน่วย ในส่วนของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน บริเวณอ่าวนาวิกโยธินค่ายกรมหลวงชุมพร เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเหมาะสมที่จะตอบสนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลได้ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่หลายแห่งในเชิงท่องเที่ยว ทั้งสถานที่ที่สร้างความภาคภูมิใจต่อทหารนาวิกโยธิน รวมถึงสถานที่ที่มีความงดงามทางธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความตั้งใจของผู้บังคับบัญชาในอดีตอยู่ก่อนแล้ว ที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ได้แสดงสู่สายตาของบุคคลทั่วไป เพื่อให้ทหารนาวิกโยธินได้เกิดความภาคภูมิใจ เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าอ่าวนาวิกโยธินคือสถานที่ที่มีคุณค่า เหมาะสมกับการจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว

 
 

อ่าวนาวิกโยธิน เป็นอ่าวเปิดสู่อ่าวไทย มีพื้นที่ในทะเล ประมาณ ๔ ตารางกิโลเมตร ด้านทิศเหนือของอ่าวเป็นทิวเขาสูง ด้านทิศใต้เป็นทิวเขาแหลมปู่เจ้า บริเวณกลางอ่าวมีเกาะเล็ก ๆ ๑ เกาะ ชื่อว่า เกาะไก่เตี้ย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความงดงามทางธรรมชาติที่พรั่งพร้อมด้วยปะการัง และสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ ส่วนที่เป็นแผ่นดินภายในอ่าวมีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร บริเวณกลางอ่าวมีส่วนที่เป็นหาดทราย ยาวประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร ซึ่งปกคลุมไปด้วยต้นเตยทะเลจำนวนมาก หาดแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า หาดเตยงาม สภาพบริเวณหาดเตยงาม มีน้ำทะเลใสสะอาด หาดทรายเป็นหาดลาดลง พื้นทรายขาว ละเอียด

   
 
 

ภายในบริเวณอ่าวนาวิกโยธินในอดีต ก่อนปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีสถานที่สำคัญของทหาร นย. ที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้คนต้องการที่จะเข้ามาเยี่ยมชม เช่นสถานที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ศาลของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย) ตั้งอยู่บนยอดเขาแหลมปู่เจ้า (เขากรมหลวง) ห้วงเวลานั้น พื้นที่เขากรมหลวงยังอยู่ในความรับผิดชอบของ นย. นอกจากนั้น ยังมีสถานที่สำหรับรับประทานอาหาร เช่น สโมสรสักประดู่ สโมสรประดู่คู่ และสโมสรสัญญาบัตรเตยงาม (ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินปัจจุบัน) เป็นสถานที่ สำหรับนายทหารสัญญาบัตรของ นย. ใช้พักผ่อนนันทนาการ ซึ่งมีกีฬาให้เล่น ได้แก่ สนุ๊กเกอร์ และบิลเลียด สำหรับ อนุสรณ์สถาน และผาวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของทหาร นย. นั้นบุคคลภายนอกยังไม่ใคร่ได้รู้จักนัก ส่วนสถานที่ที่คนทั่วไป ข้าราชการ และครอบครัวได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ และลงเล่นน้ำทะเลคือบริเวณหาดเตยงาม

   
 

ต่อมามีการก่อสร้างสถานที่สำคัญขึ้นอีกหลายแห่ง อาทิ อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน สร้างเสร็จเมื่อ ๑๑ ส.ค.๒๗ กระทำพิธีเปิดเมื่อ ๓๐ ก.ค.๒๘ และพระอนุสาวรีย์ของพลเรือเอกเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บริเวณกองรักษาการณ์ กรมรักษาความปลอดภัย นย. ที่สร้างขึ้น ด้วยเหตุที่ค่ายกรมหลวงชุมพรยังมิได้มีพระอนุสาวรีย์ของ พระองค์ท่านตามชื่อค่าย พลเรือโท มนัส ปิ่นกุลบุตร ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินในขณะนั้น ได้ดำริและให้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อประดิษฐานภายในค่าย ฯ โดยได้กระทำพิธีอัญเชิญพระรูปจำลองขนาด ๑ เท่าครึ่งของพระองค์จริง ขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระอนุสาวรีย์ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๑ พ.ย. ๓๖

   

อนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน

พระบรมราชานุสาวรีย์ เสด็จเตี่ย หน้ากรม รปภ.นย.
 
 

        สำหรับการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้อนุมัติให้จัดตั้งและเริ่มดำเนินการปรับปรุงก่อสร้าง ประมาณปลายปี ๒๕๓๙ โดยได้ปรับปรุงโครงสร้างอาคารสโมสรสัญญาบัตรเตยงาม จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ สร้างเสร็จสมบูรณ์ และทำพิธีเปิดในเวลาต่อมา (เมื่อ ๓๐ ก.ค.๔๓)
     ปี พ.ศ.๒๕๔๑ ทร. มีนโยบายจัดสถานที่ของ ทร. ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในปีการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ตามที่ได้กล่าวในข้างต้น โดย ทร. ได้ลงคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทร. โดยมี ผช.เสธ.ทร.ฝกพ. เป็นประธานกรรมการ (คำสั่ง ทร. (เฉพาะ) ที่ ๑๔๓/๒๕๔๑ ลง ๑๔ ส.ค.๔๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทร.) ซึ่งคณะกรรมการได้ประชุมเพื่อพิจารณาสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ และกำหนดเป็นแผนการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทร. โดยเน้นถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทหารเรือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมกีฬาทางน้ำ และกีฬาอื่นที่ ทร. มีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ ซึ่งคณะกรรมการได้เสนอให้ใช้พื้นที่สัตหีบ พื้นที่ กทม. และปริมณฑล และ ทร. ได้อนุมัติแผนการท่องเที่ยวตามที่คณะกรรมการเสนอ ประกอบด้วยแผนการท่องเที่ยว พื้นที่สัตหีบ และพื้นที่ กทม. พร้อมทั้งได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน ๒๑๑,๙๐๐ บาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์เพิ่มเติมตามที่หน่วยร้องขอ รวมถึงการจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ ในการดำเนินการครั้งนั้น นย. ได้รวมรวมสถานที่สำคัญภายในค่ายกรมหลวงชุมพร เสนอเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้แก่พระอนุสาวรีย์พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ , อนุสาวรีย์ทหาร นย. , สโมสรสักประดู่ , สโมสรประดู่คู่ , หาดเตยงาม ,อนุสรณ์สถาน และ พิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน โดย นย. ได้เสนอและได้รับการอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการจัดทำป้ายแสดงแหล่งท่องเที่ยว เป็นเงินจำนวน๔๑,๑๐๐ บาท
ต่อมา ได้มีการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ ๔/๒๕๔๔ เมื่อ ๓๐ พ.ค.๔๔ ในเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในหน่วยทหาร ที่ประชุมได้มีมติให้ บก.ทหารสูงสุด และเหล่าทัพ พิจารณาเปิดแหล่งท่องเที่ยวในหน่วยทหารเพิ่มขึ้น และนำศักยภาพที่ทหารทำได้ดีมาใช้ประโยชน์มากขึ้น การดำเนินการตามมติสภากลาโหมฯ ในส่วนของ ทร. กพร.ทร. ได้เสนอขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบในการดำเนินการดังกล่าว โดยมี ผช.เสธ.ทร.ฝกพ. เป็นประธานกรรมการ ตามคำสั่ง ทร. (เฉพาะ) ที่ ๓๓๔/๒๕๔๔ ลง ๑๔ ส.ค.๔๔ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทร. ซึ่งในส่วนของ นย. มี เสธ.นย. เป็นกรรมการ มีการดำเนินการคือ สภากลาโหม ได้ให้ บก.ทหารสูงสุด และเหล่าทัพ จัดทำโครงการ และเสนอความต้องการ งป. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในหน่วยทหาร ตามลำดับชั้น เพื่อเสนอต่อไปยังรัฐบาล โดยมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและด้านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว ตามบันทึก สนผ.กห. ที่ กห ๐๒๐๗ ซึ่ง ทร. ได้รวบรวมโครงการ และความต้องการงบประมาณ จากหน่วยต่าง ๆ ของ ทร. เสนอ กห. ในวงเงินรวมทั้งสิ้น ๒๙๓,๐๒๙,๙๙๐ บาท โดยเสนอโครงการปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว ที่ ค่ายกรมหลวงชุมพร , ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า , ค่ายตากสิน , ค่ายจุฬาภรณ์ และ พัน.ลว.พล.นย. สำหรับค่ายกรมหลวงชุมพร เสนองบประมาณ ไว้จำนวน ๑๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท ในการซ่อมเส้นทางสู่สถานที่ท่องเที่ยว ,ปรับปรุงต่อเติมอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน, ซ่อมบำรุงอนุสาวรีย์ และปรับปรุงพื้นที่ชายทะเล การดำเนินการในครั้งนั้น ทำให้สถานที่ท่องเที่ยว บริเวณอ่าวเตยงาม นย. มีความสวย และสง่างามมากขึ้นเป็นลำดับ
             สำหรับเหตุการณ์ที่ทำให้กิจการการท่องเที่ยว นย. ได้มีการจัดตั้งเป็นรูปธรรมขึ้นมานั้น คือ ในปี ๒๕๔๕ เป็นปีที่สำคัญ เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ ๕๐ พรรษา ในวันอาทิตย์ ที่ ๒๘ ก.ค.๔๕ กองทัพเรือได้มอบหมายให้ นย. รับไปดำเนินการโครงการเฉลิมพระเกียรติ พล.ร.ท.เทิดศักดิ์ เสถียรสวัสดิ์ ผบ.นย. ในขณะนั้น จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเส้นทางสู่อ่าวนาวิกโยธิน พร้อมกับการพัฒนาพื้นที่หน้าผาวชิราลงกรณ์ ให้เสร็จทันภายใน ๒๘ ก.ค.๔๕ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของทหาร นย. ครั้งที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (ขณะดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร การฝึก นย. เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๑๓ โดยได้เรียนเชิญ ผบ.ทร. เพื่อทำพิธีเปิดผาวชิราลงกรณ์อย่างเป็นทางการ
จุดเริ่มของการทำโครงการครั้งนั้น นย. จึงมีความคิดที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของ นย. อย่างจริงจัง และมีสำนักงานในการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้เสนอโครงการ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เพื่อจัดตั้งสำนักงานดูแลด้านการท่องเที่ยว และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายใน นย. เป็นจำนวนเงิน ๓๕ ล้านบาท ในการจัดทำภูมิสถาปัตย์ผาวชิราลงกรณ์ และภูมิสถาปัตย์ หาดเตยงาม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวของ นย. อย่างมากมาย ทั้งการสร้างปรับปรุงเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยว สร้าง/จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก และการรักษาความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ การขยายและปรับปรุงถนนในค่ายกรมหลวงชุมพร การปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การสร้างลานจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว การก่อสร้างอาคารศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล สร้างอาคารศูนย์ฝึกและอบรมทรัพยากรบุคคลและการกีฬา (มารีนรีสอร์ท) จำนวน ๓ อาคาร (อาคารชั่วคราว ๔ ห้อง จำนวน ๒ หลัง และโรงเรือน ๔๐ เตียง ๑ หลัง) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ.ชลบุรี อีกส่วนหนึ่ง ในการจัดหาคอมพิวเตอร์ เรือท้องกระจก และอุปกรณ์ดำน้ำ สำหรับดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนเล่นน้ำทะเลบริเวณหาดเตยงาม

 
 

สำนักงานดูแลด้านการท่องเที่ยวของ นย. จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก และเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๑ ก.ค.๔๖ ใช้ชื่อว่า กิจการการท่องเที่ยว และกิจการศูนย์ฝึกอบรมและการกีฬา นย. สำนักงานตั้งอยู่ที่มารีนโบ๊ทคลับ มีหน้าที่กำกับดูแล พื้นที่ท่องเที่ยวและการบริการบริเวณหาดเตยงาม รวมถึงการบริการบ้านพักมารีนรีสอร์ท มี พล.ร.ต.พงศ์ศักดิ์ ภูรีโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ท่านแรก เริ่มต้นมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน จำนวน ๗ คน โดยขออนุมัติอัตรากำลังพลจาก นย.

 
P1030249
 

           ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดใหม่ โดยแยกกิจการการท่องเที่ยว นย. กับ กิจการศูนย์ฝึกอบรมทรัพยากรบุคคลและการกีฬาออกจากกัน กิจการการท่องเที่ยว นย. จึงได้แยกมาตั้งสำนักงานที่อาคารช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลตั้งแต่นั้นมา
 
          กิจการการท่องเที่ยว นย. ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ มีผู้บังคับบัญชาที่มาดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการกิจการการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ดังนี้

          -  พล.ร.ต.พงศ์ศักดิ์ ภูรีโรจน์ ๑ ต.ค.๔๕ - ๑๙ ม.ค.๔๗
          -  น.อ.ประจิตร บุญยนิยม               ๒๐ ม.ค.๔๗ - ๒๘ ธ.ค.๔๗
          -  น.อ.อำพล เที่ยงสกุล            ๒๘ ธ.ค.๔๗ - ๒๓ พ.ย.๔๘
          -  น.อ.ดำรงค์ สารสิทธิ์           ๒๓ พ.ย.๔๘ - ๑๓ พ.ย.๔๙
          -  น.อ.สมปอง สังข์สุวรรณ                ๑๓ พ.ย.๔๙ - ๒๕ ต.ค.๕๐
          -  น.อ.ณรงค์ศักดิ์ จาตกานนท์              ๒๕ ต.ค.๕๐ - ๓๐ ก.ย.๕๓

และ น.อ.วัชรา พวงไสว เป็นประธานกรรมการกิจการการท่องเที่ยว นย. ตั้งแต่ ๑ ต.ค.๕๓ จนถึงปัจจุบัน

----------------------------------------------------
   
สะดือมังกร
   

บริเวณอ่าวนาวิกโยธิน ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า อ่าวทุ่งไก่เตี้ย บางครั้งเรียกว่า อ่าวตะกันหรือตากัน เป็นอ่าวเปิดสู่อ่าวไทย มีทิวเขาแหลมปู่เจ้าอยู่ทางด้านซ้าย และทิวเขาสูงอยู่ทางด้านขวา อ่าวนาวิกโยธินมีพื้นที่ที่เป็นน้ำประมาณ ๔ ตารางกิโลเมตร บริเวณกลางอ่าวมีเกาะเล็ก ๆ ซึ่งมีปะการัง และสัตว์ทะเลสวยงามมากมาย ชื่อว่าเกาะไก่เตี้ย ความยาวชายฝั่งของอ่าวประมาณ ๕ กิโลเมตร มีส่วนที่เป็นชายหาดยาวประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยพืชพรรณไม้ตามธรรมชาติ คือ ต้นเตยทะเล มะพร้าว ตาล และผักบุ้งทะเล ความสวยงามบริเวณหาดแห่งนี้ คือสีของน้ำทะเลเป็นสีมรกต ทรายเป็นทรายเม็ดละเอียด ด้วยเหตุที่ชายหาดมีต้นเตยทะเลขึ้นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกหาดแห่งนี้ว่า หาดเตยงาม

        สำหรับความเป็นมาของสะดือมังกร ณ บริเวณอ่าวนาวิกโยธินแห่งนี้ มีเรื่องเล่าขานมาแต่ดั้งเดิมว่า สมัยก่อนมีเรือสำเภาจีนที่เข้ามาค้าขายกับคนไทย แล้วเข้ามาในบริเวณอ่าวแห่งนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยที่มากับเรือได้พิจารณาบริเวณพื้นที่ในอ่าวแล้วเห็นว่า เป็นสถานที่ที่มีภูมิสถาปัตย์ที่ดีมาก เพราะมีภูเขาล้อมรอบ มีเขาสูงอยู่ด้านหลังเหมือนขาสิงห์ยื่นออกมาสองข้าง ทั้งซ้ายและขวา ด้านซ้ายมืออยู่ที่แหลมปู่เจ้า ด้านขวามืออยู่ที่มารีนรีสอร์ท เข้าลักษณะที่เรียกกันว่า "หน้ามีน้ำหลังพิงเขา" และปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในอ่าวแห่งนี้คือกระแสน้ำทะเลน้ำจะวนจากด้านแหลมปู่เจ้า วนมากลางอ่าวเป็นคลื่นลูกใหญ่ วงกลมเข้าลักษณะที่เรียกว่า สะดือมังกร ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นพื้นที่ที่มีพลังธรรมชาติสูง หากใครมีความเชื่อความศรัทธา ได้อาบหรือแช่ตัวภายในน้ำทะเลบริเวณนี้ จะสามารถเพิ่มพลังธรรมชาติ เป็นการเสริมบารมีทุก ๆ ด้าน และสามารถปกปักษ์รักษาตัว ให้แคล้วคลาดจากภยันตราย มีสุขภาพพลานามัยดี ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นเป็นประการใดไม่อาจทราบได้ แต่มีชาวจีนตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งเข้ามาแช่ตัวในน้ำทะเลหาดเตยงามในช่วง วันที่ ๙ เดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ และวันตรุษจีน เป็นประจำ จุดที่ลงแช่ตัวบริเวณทางแยกบ้าน น.๑๔ - น.๑๕ สำหรับการปฏิบัติในการมาแช่ตัว เริ่มจากการจุดธูป ๙ ดอก สักการะกรมหลวงชุมพร ฯ ทำจิตใจให้สงบ เดินลงสู่ทะเล ให้น้ำทะเลอยู่บริเวณระดับอก ยืนสงบนิ่ง หันหน้าลงทะเล หลังจากนั้นให้ตั้งจิตอธิษฐานให้สิ่งไม่ดีไหลไปกับทะเล จากนั้นหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก อธิษฐานขอสิ่งที่ต้องการ แล้วนำน้ำทะเลขึ้นมาลูบที่ศีรษะ ใบหน้า และเดินถอยหลังขึ้นจากน้ำทะเล (หรือเดินถอยหลังลงสู่ทะเลแล้วเดินกลับหันหน้าเข้าหาฝั่งก็ได้ผลเช่นเดียวกัน) ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ส่วนเสื้อผ้าชุดเก่าให้บริจาคเป็นทาน

   
   

นี่คือประวัติความเป็นมาของ สะดือมังกร ถึงแม้จะผ่านมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ความเชื่อดังกล่าวยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้